xs
xsm
sm
md
lg

“แพลตฟอร์มกลางสำหรับการสร้างเครื่องมือบำบัดทางจิตวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“แพลตฟอร์มกลางสำหรับการสร้างเครื่องมือบำบัดทางจิตวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์” (AI Psychological Intervention Open Platform)

ย้อนไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ทีมนักวิจัยได้ทำตัวแชทบอทที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตขึ้นมาชิ้นแรกชื่อว่า “จับใจ” ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้าใช้งานจำนวนมากมากกว่า 100,000 คน แต่ปัญหาที่พบคือ การสร้างแชทบอทหนึ่งตัวต้องใช้องค์ความรู้จากทั้งฝั่งนักพัฒนาระบบและฝั่งจิตวิทยา หากมีการแก้ไขในส่วนของตัวโปรแกรม และแบบฟอร์มในส่วนของการถาม - ตอบ (Conversation Flow) จะใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะต้องผ่านกระบวนการแก้ไข ตรวจสอบจากนักวิจัยทั้งสองฝั่ง เนื่องจากแต่ละฝั่งยังไม่ทราบข้อจำกัดในการทำงานของกันและกัน

ทำให้ทีมนักวิจัยมองว่า การมีแชทบอทที่สามารถช่วยคนได้จำนวนมาก ทำให้เรามองเห็นโอกาสในการสร้างประโยชน์จากแชทบอทนี้ โดยคิดว่าถ้าเรามีแชทบอทแบบนี้กระจายตัวอยู่ในแต่ละจังหวัดหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องสุขภาพจิตของประชาชนทั่วประเทศ และสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ได้จะทำให้เกิดการเข้าถึงประชาชานมากยิ่งขึ้น จึงเกิดความคิดต่อยอดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถสร้างแชทบอทได้ง่ายขึ้น โดยผู้ที่ไม่มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีก็สามารถสร้างแชทบอทได้ จนเกิดเป็นไอเดียการสร้างแพลตฟอร์มกลางสำหรับการสร้างเครื่องมือบำบัดทางจิตวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์ ขึ้นมา
"แพลตฟอร์มกลางสำหรับการสร้างเครื่องมือบำบัดทางจิตวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์" ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยที่นักจิตวิทยาหรือผู้ใช้งาน สามารถเข้ามาออกแบบสร้างแชทบอทบนแพลตฟอร์มนี้ได้ โดยการใช้ภาพสัญลักษณ์ในการสื่อสารกับผู้ใช้งาน (Graphic User Interface) และการลากแล้ววางวัตถุ (Drag & Drop) เพื่อสร้างบทสนทนา (Conversation Flow) ระหว่างนักจิตวิทยาและผู้ใช้งานได้ โดยซ่อนปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกผ่านการสนทนาเข้าไปด้วย เช่น การวิเคราะห์อารมณ์ ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจุดเด่นของแพลทฟอร์มนี้ คือ สามารถแชร์แบบฟอร์มบทสนทนา ให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มกลางฯ ท่านอื่น สามารถนำบทสนทนาของหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จแล้วไปใช้งานต่อได้

“เราเป็นเพียงช่องทางหนึ่งที่จะนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการในเบื้องต้น ไม่ได้ตั้งใจจะเอาแชทบอทมาแทนที่นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพียงแต่ต้องการเป็นตัวเชื่อมในการเข้าถึงการรักษา ในบางรายจะได้รับการแก้ไขในเบื้องต้นและช่วยรักษาได้หากมีการแนะนำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดภาระในการรักษาในระยะยาวได้ เพราะระบบนี้ยังสามารถต่อเชื่อมกับระบบนัดรับการรักษาของโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้อีกด้วย”

ต้องยอมรับความจริงของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ว่าในเรื่องของสุขภาพจิตยังไม่สามารถใช้บอทในการโต้ตอบกับผู้ป่วยได้ 100% ยังมีข้อผิดพลาดเกิดได้อยู่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะป้องกันข้อผิดพลาดได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการโต้ตอบหัวข้อด้านจิตวิทยาค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน ซึ่ง AI ไม่สามารถสื่อสารได้ทั้งหมด ยังต้องใช้ข้อมูล Corpus based มีชุดคำถามที่แน่นอนบนพื้นฐานจากงานวิจัย ซึ่งในอนาคตอาจจะมีโปรแกรมที่สามารถประเมินคำตอบ ที่มีความละเอียดอ่อนของการใช้ภาษาระหว่างคนกับ AI ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดได้

แพลตฟอร์มนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งทีมนักวิจัยได้ทำการทดสอบแพลตฟอร์มนี้มาประมาณ 1 ปี 6 เดือน พบว่าในช่วงการพัฒนาปีแรก มีหน่วยงานที่นำแพลตฟอร์มกลางฯ ไปใช้งาน ประมาณ 20 หน่วยงาน มีแชทบอทที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้งานแล้ว จำนวน 6 แชทบอท และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหน่วยงานที่นำไปใช้งานไม่เพียงแต่โรงพยาบาลเท่านั้น โรงเรียน กองทัพ กรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ดูแลเรื่องสุขภาพจิตด้วย คาดว่าจะขยายผลเพิ่มขึ้นและชัดเจนในปีหน้า ในส่วนนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาลัยมหิดล มีการจัดตั้งศูนย์ “Thailand Mental Health Technology and Innovation Center” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับ ภาคจิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการสร้างสรรค์และมุ่งพัฒนาทางด้าน Deep Technology เกี่ยวกับสุขภาพจิตหลาย ๆ แบบ โดยใช้ AI เป็นหลักในการสร้างเทคโนโลยีที่จะมาสนับสนุการทำงานของบุคลากรทางด้านสุขภาพจิตของประเทศต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น