xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเฝ้าระวัง "ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก" หลัง WHO ประกาศโรคอันตราย ชี้ติดต่อต่างจาก "เดงกี"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค เฝ้าระวัง "โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก" หลัง WHO ประกาศโรคติดต่ออันตราย ยังไม่พบผู้ป่วยในไทย ชี้เชื้อมาจากไนโรไวรัส ต่างจากไข้เลือดออกเดงกีในไทย มีเห็บเป็นพาหะ หากพบผู้ตอดเชื้อต้องแยกเข้าห้องความดันลบ เหตุติดเชื้อจากเลือด เนื้อเยื่อผู้ป่วยได้

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก พื้นที่ระบาดอยู่ในประเทศแถบยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียกลาง และเอเชียใต้ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นโรคติดต่ออันตราย และขอย้ำว่า โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศไทย โรคดังกล่าวมีความแตกต่างจากโรคไข้เลือดออกเดงกีที่พบผู้ป่วยในประเทศไทย โดยโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก พบรายงานครั้งแรกในปี 2487 ที่บริเวณแหลมไครเมียน ต่อมาเกิดการระบาดในประเทศคองโก สาเหตุเกิดจากเชื้อไนโรไวรัส (Nairovirus) เชื้อดังกล่าวพบในตัวเห็บที่อาศัยอยู่บนตัวสัตว์เท้ากลีบ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น พบระบาดในประเทศในแถบแอฟริกา อเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแถบแปซิฟิกตะวันตก

การติดต่อ คือ 1. ถูกเห็บที่มีเชื้อไนโรไวรัสกัด 2. สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีเชื้อ 3. สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของผู้ป่วยไครเมียนคองโก เมื่อป่วยจะเริ่มด้วยอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง มีภาวะเลือดคั่ง ตาอักเสบบวมแดง อาจมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง เกิดขึ้นบริเวณหน้าอกและท้องแล้วกระจายไปทั่วร่างกาย อาจมีเลือดออกที่บริเวณเหงือก จมูก ปอด มดลูก ทางเดินปัสสาวะ และทางเดินอาหาร อัตราการป่วยตายจะอยู่ที่ ร้อยละ 30-40 หากพบผู้ติดเชื้อให้แยกผู้ป่วยให้อยู่ในห้องเดี่ยว และควรเป็นห้องความดันลบ ทั้งนี้ หากกลับจากต่างประเทศและสงสัยโรคนี้ ให้พบแพทย์และให้ประวัติการเดินทางและปัจจัยเสี่ยง


นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนโรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ติดต่อโดยมียุงลายเพศเมียเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร บางรายมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตได้ สถานการณ์โรคไข้เลือดออกระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 19 ก.ค. 2566 พบรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 41,527 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 2.8 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 41 ราย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 5,057 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น