xs
xsm
sm
md
lg

สบส.ย้ำ รพ.เอกชน เตรียมรับผู้ป่วย UCEP ช่วงหยุดยาว 6 วัน ห้ามปฏิเสธรักษา-เรียกเก็บเงินใน 72 ชม. ไม่ทำตามพร้อมเอาผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สบส.ย้ำ รพ.เอกชนช่วงวันหยุดยาว 6 วัน เตรียมรับดูแลผู้ป่วยสิทธิ UCEP หรือเจ็บป่วยวิกฤตสีแดง 6 กลุ่มอาการ ห้ามปฏิเสธการรักษา หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หากไม่ทำตามพร้อมส่ง จนท.เข้าตรวจสอบดำเนินคดีตามกฎหมาย หากไม่เข้าเกณฑ์สีแดงต้องสื่อสารผู้ป่วยหรือญาติให้ชัด

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีประกาศวันที่ 31 ก.ค. 2566 เป็นวันหยุดราชการพิเศษ ทำให้เกิดวันหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. - 2 ส.ค. 2566 ว่า ในส่วนของนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัยจากสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษา 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งช่วงวันหยุดยาว 6 วันที่จะถึงนี้ ส่งผลให้ทั่วประเทศมีการเดินทางกันกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวอย่างคับคั่ง อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและเจ็บป่วยของผู้ที่มีโรคประจำตัวมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินและฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ได้รับการรักษาพยาบาลจาก รพ.ทั้งรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้อย่างทันท่วงที ลดการสูญเสียของผู้ป่วยและครอบครัว สบส.จึงดำเนินการแจ้งเวียนให้สถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ปฏิบัติตามนโยบาย UCEP อย่างเคร่งครัด ยึดหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย ไม่นำค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไขการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน

ทั้งนี้ อาการเจ็บป่วยที่สามารถใช้สิทธิ UCEP ตามเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แบ่งเป็น 6 อาการ ได้แก่ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.มีอาการซึม เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด หรือชักต่อเนื่อง และ 6.มีอาการที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิตหรือระบบสมอง ซึ่ง สบส.จะมีการเฝ้าระวังและตรวจสอบการดำเนินการของสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งอย่างใกล้ชิด หากพบว่าแห่งใดปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ จะมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายทันที

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยเพื่อรับบริการตามนโยบาย UCEP แก่ประชาชน ขอให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของ สพฉ. หากผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ ห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก แต่หากไม่ได้มีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) อาจอยู่ในเกณฑ์สีเหลืองหรือสีเขียวก็ต้องมีการสื่อสารสอบถามสิทธิการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยหรือญาติ เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด หากพบปัญหาการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ผ่านสายด่วน 02-872-1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ยึดคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานงานฯ เป็นที่สุด หากประชาชนพบสถานพยาบาลแห่งใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สามารถแจ้งสายด่วนกรม สบส. 1426 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่


กำลังโหลดความคิดเห็น