xs
xsm
sm
md
lg

สช.เร่งรวมข้อเสนอรักษา "โรคไต" ชง รบ.ชุดใหม่ รองรับผู้ป่วยพุ่ง ดันยาตัวใหม่เข้าบัญชียาหลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สช.เร่งรวบรวมข้อเสนอการรักษา "โรคไต" ชงพรรคการเมือง รบ.ชุดใหม่ ตัดสินใจเชิงนโยบาย รับผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น เข้าถึงบริการมากขึ้นจนเกิดปัญหาภาระงาน สมาคมโรคไตฯ ชงดันยารักษาไตตัวใหม่เข้าบัญชียาหลักฯ

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย จัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ ครั้งที่ 3 “สิ่งท้าทายและข้อเสนอระบบทดแทนไตของไทยในปัจจุบันและอนาคต”

​นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ สช. กล่าวว่า โรคไตมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตทุกสิทธิสามารถเข้ารับการรักษาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย มี 3 วิธีหลักบำบัดทดแทนไต ได้แก่ ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) ล้างไตทางช่องท้อง (PD) และปลูกถ่ายไต (KT) ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงบริการที่เพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการทบทวนสถานการณ์และมองถึงอนาคต เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่เหมาะสม หลักการสำคัญคือ การเข้าถึงบริการอย่างเสมอภาค ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะในชุมชนเมือง และไทยต้องมีกลไกระดับชาติ ประกอบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน ทำหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบาย จัดทำระบบฐานข้อมูลกลางโรคไตเพื่อติดตามและปรับปรุงระบบ

“รัฐต้องลงทุนเพื่อขยายระบบบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ช่วยให้ประชาชนไม่ล้มละลายจากค่ารักษา ไม่ปล่อยให้การรักษาโรคไตเป็นไปตามกลไกการตลาด มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมาจำนวนมาก เช่น คุณภาพบริการ ค่าใช้จ่าย-กำแพงราคา นำไปสู่การเข้าถึงบริการที่ลดลง รัฐจะไม่สามารถดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการได้” นพ.ประทีป กล่าวและว่า ข้อเสนอทั้งหมดในเวทีเสวนา สช. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายรวบรวม สังเคราะห์ ผลักดันไปสู่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะพรรคการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป


​นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดัน โรคอ้วน เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยโรคไตเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ทำให้มีปัญหาอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอ ปัจจุบันไทยมีแพทย์เฉพาะทางด้านไต 1,100 คน ผลิตเพิ่มปีละ 50-55 คน พยาบาลโรคไต 2,400 คน ผลิตเพิ่มปีละ 400-600 คน ถือว่าเพียงพอระดับหนึ่ง แต่ปัญหาที่ลึกลงไปคือภาวะหมดไฟจากภาระงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรไหลออก สำหรับแนวทางแก้ปัญหาคือ ร่วมกันควบคุมไม่ให้โรคเบาหวาน-ความดัน เพิ่มขึ้น คัดกรองโรคไตระยะแรก ซึ่งร่วมกับ สปสช. ดำเนินการอยู่ เพื่อให้ผู้ป่วยรักษาเร็ว-ค่าใช้จ่ายน้อย และร่วมกับภาควิชาชีพออกแนวปฏิบัติให้แพทย์ที่ไม่เฉพาะทาง สามารถประเมินรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้เอง ตัดสินใจส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางได้เมื่อมีความจำเป็น

“ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันยารักษาโรคไตตัวใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่คณะกรรมการฯ ก็จะนำประเด็นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาพิจารณาด้วย” นพ.วุฒิเดช กล่าว

ทั้งนี้ ภายในเวทีเสวนายังมีข้อเสนอ อาทิ ให้ผู้ป่วยในสิทธิประกันสังคมไม่ต้องรับการอนุมัติจากผู้บริการกองทุนในการปลูกถ่ายไต เหมือนกับอีก 2 สิทธิ เพื่อให้สถานพยาบาลที่ได้รับการส่งต่อผู้ป่วยให้เข้ารับการปลูกถ่ายไตดำเนินการได้ทันที ไม่จำเป็นต้องให้สถานพยาบาลเซ็นรับก่อนและให้ผู้ป่วยกลับไปยื่นเพื่อรอการอนุมัติจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อีกหลายเดือน , การให้ทั้ง 3 กองทุนทำให้ระบบเบิกจ่ายการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) แก่ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการ หรือไม่เหมาะสมกับวิธีการบำบัดทดแทนไต จะช่วยลดภาระทางงบประมาณได้มาก , การเปิดพื้นที่พูดคุย เพื่อต่อยอดไปถึงเชิงนโยบายถึงการให้ทุกคนในประเทศไทยยินยอมบริจาคไตหลังเสียชีวิต




กำลังโหลดความคิดเห็น