xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์เผย 2 ลักษณะ ปวดหัว "ไมเกรน" เตือน "กล้วย-ช็อกโกแลต-เนยแข็ง" ปัจจัยเสี่ยงกระตุ้นอาการได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอชี้ปวดหัว "ไมเกรน" มี 2 แบบ แบบไม่มีอาการนำ และมีอาการนำ เช่น ตาฝ้า เห็นแสงระยิบระยับ ภาพมืด แขนขาชาอ่อนแรง พูดไม่ได้ชั่วครู่ ก่อนมีอาการปวดหัว สาเหตุมาจากร่างกายและพันธุกรรม ส่วนพักผ่อนไม่พอ อาการเปลี่ยน ทำงานหนัก เครียด แค่ปัจจัยกระตุ้น แนะให้หลีกเลี่ยง เผยกล้วย ช็อกโกแลต เรยแข็ง กระตุ้นอาการได้

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงโรคไมเกรนว่า เป็นอาการปวดศีรษะที่พบได้ในเด็กวัยเรียน วัยหนุ่มสาว แต่ผู้สูงอายุมักไม่เป็นโรคนี้ พบมากโดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันและความกดดันอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ต้องเผชิญกับความเครียดสะสม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จะพบผู้ป่วยอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 25-30 ปี มากที่สุด มักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยลักษณะของไมเกรนแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ 1.ไมเกรนชนิดไม่มีอาการนำ จะปวดศีรษะครึ่งซีกเป็นพักๆ เวลาหายปวดจะหายสนิท ซึ่งการปวดแต่ละครั้งจะนาน 4 ชั่วโมงหรือนานเป็นวันๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการ เช่น คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อแตก และ 2.ไมเกรนชนิดมีอาการนำ จะพบได้น้อยกว่า มักมีอาการนำมาก่อนแล้วจึงมีอาการปวดศีรษะตามมา เช่น ตาฝ้า เห็นแสงระยิบระยับ บางคนอาจเห็นเป็นภาพมืดตรงกลางทำให้มองไม่เห็นชั่วครู่ อาจมีอาการแขนขาชาอ่อนแรงหรือพูดไม่ได้ชั่วครู่ ไมเกรนถือเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของใครหลายคน และเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน การมีความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้องจะช่วยให้ห่างไกลจากโรคไมเกรนได้

ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า สาเหตุของโรคปวดศีรษะไมเกรนเกิดจากภายในร่างกายและจากพันธุกรรม ซึ่งไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ ส่วนสาเหตุที่มาจากภายนอกร่างกายเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดอาการ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ อากาศเปลี่ยนแปลง ทำงานหนักหรือมีความเครียดมากเกินไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาหารบางชนิด ได้แก่ กล้วยหอม ช็อคโกแลต เนยแข็ง สำหรับการรักษาแพทย์จะให้ยาแก้ปวดเวลามีอาการปวดและการใช้ยาป้องกันไมเกรนในรายที่เป็นบ่อย ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเองควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาเมื่อมีอาการปวดศีรษะแบบรุนแรง ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาป้องกันไมเกรนสม่ำเสมอทุกวันอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ได้ผลในการป้องกัน เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทรมานจากอาการปวดน้อยลงและดำเนินชีวิตประจำวันทำงานได้ตามปกติ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การปวดเรื้อรัง ควรฝึกการคลายเครียดจากการทำงานหรือเรียน นอนพักผ่อนให้เพียงพอ 6 - 8 ชั่วโมง กินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ


กำลังโหลดความคิดเห็น