เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์เผยข่าวดี กรมทรัพย์สินฯ ประกาศไม่รับจดสิทธิบัตรยา “เบดาคิวไลน์” ที่ใช้รักษาวัณโรคเชื้อดื้อยาและวัณโรคระยะแฝง จำนวน 2 ฉบับในไทย เผยบริษัทยายื่นขอไว้ 5 ฉบับ ฉบับแรกจะหมดอายุลง ก.ค.นี้ ยังเหลือพิจารณาอีก 2 ฉบับ หากปฏิเสธทั้งหมด จะช่วยไทยนำเข้าหรือผลิตยาชื่อสามัญราคาถูกลงได้ จากปัจจุบันขวดละ 3.5 หมื่นบาทต่อการรักษา 6 เดือน
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศบนเว็บไซต์เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรยา "เบดาคิวไลน์" ของบริษัทยาแจนซ์เซ่น ฟาร์มาซูติกา เอ็น.วี. เลขที่ 0501002434 และ 0501005795 รวม 2 ฉบับเป็นที่เรียบร้อย นับเป็นเรื่องน่าดีใจที่กรมทรัพย์สินฯ ประกาศไม่รับจดสิทธิบัตรยาทั้ง 2 ฉบับ ด้วยเหตุผลที่คำขอนั้นขัดต่อกฎหมายสิทธิบัตร ตามมาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 7 ที่ไม่มีความใหม่และไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
"การยื่นขอจดสิทธิบัตรหลายฉบับสำหรับยาชนิดเดียว เป็นกลวิธีขยายการผูกขาดระบบสิทธิบัตรที่อุตสาหกรรมยาต่างชาตินิยมใช้ เหมือนกับกรณีสิทธิบัตรยาเบดาคิวไลน์ที่บริษัทแจนซ์เซ่นฯ ได้ยื่นไว้ถึง 5 ฉบับในไทย โดยฉบับแรกได้รับสิทธิบัตรไปแล้วและกำลังจะหมดอายุลงใน ก.ค. 2566 สองฉบับเพิ่งถูกยกคำขอฯ ไปดังกล่าว และยังคงเหลืออีก 2 คำขอที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ยื่นคัดค้านไปแล้ว และหวังว่าจะถูกยกคำขอด้วยเช่นกัน" นายเฉลิมศักดิ์กล่าว
นายเฉลิมศักดิ์กล่าวว่า หมายความว่าถ้ากรมทรัพย์สินทางปัญญาปฏิเสธคำขอที่เหลือ ยาเบดาคิวไลน์ก็จะไม่มีสิทธิบัตรในไทย และจะสามารถนำเข้าหรือผลิตยาชื่อสามัญได้ในราคาที่ถูกลง ทำให้คนเข้าถึงการรักษาด้วยยานี้มากขึ้น เพราะตอนนี้ประเทศไทยนำเข้ายาเบดาคิวไลน์เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยวัณโรคเชื้อดื้อยาภายในโครงการพิเศษของกรมควบคุมโรค ในราคาขวดละ 35,921 บาทสำหรับการรักษา 6 เดือน อย่างไรก็ตาม อยากตั้งคำถามไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่มีคู่มือตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรฉบับปรับปรุงและใช้มาเกือบ 10 ปีแล้วว่า สถานการณ์ของการให้สิทธิบัตรในแบบที่ไม่สมควรได้รับนั้นมีความคลี่คลายลงบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะคำขอที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาเพื่อบำบัดรักษาโรค