สธ.ห่วงเด็กไทยตายจากจมน้ำถึงเกือบ 7 พันคน ในช่วง 10 ปี เหตุขาดทักษะเอาชีวิตรอดและการช่วยเหลือ ลุยรณรงค์วันป้องกันจมน้ำโลก “เริ่มทำ-ทำต่อ-ต่อขยาย" หนุนเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไปเรียนรฅหลักสูตรว่ายน้ำเอาชีวิตรอด อายุ 12 ปีขึ้นไป รู้จักปฐมพยาบาล CPR คนจมน้ำ
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่สระว่ายน้ำ อบจ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงานรณรงค์วันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day) ปี 2566 "เริ่มทำ-ทำต่อ-ต่อขยาย...คนไทย
ไม่จมน้ำ" ว่า ปี 2564 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติมีมติกำหนดให้วันที่ 25 ก.ค.ของทุกปีเป็นวันป้องกันการจมน้ำโลก โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกกำหนดแนวคิด คือ “Do one thing - Improve one thing - Add one thing” เพื่อให้ทุกประเทศทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งป้องกันการจมน้ำ ซึ่งสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ระดับบุคคล เครือข่าย หรือภาครัฐ
ทั้งนี้ การจมน้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขทั่วโลก จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่า แต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 236,000 คน โดย 1 ใน 4 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งกลุ่มเด็กอายุ 5 - 14 ปี พบว่าการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ส่วนประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 - 2565) มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 36,403 คน เฉลี่ยปีละ 3,640 คน หรือวันละกว่า 10 คน จำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 6,992 คน สาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยคือ ขาดทักษะการเอาชีวิตรอดและการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำ ที่ถูกต้อง
นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวคิด รณรงค์ คือ “เริ่มทำ" สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการจมน้ำ โดยเริ่มต้นจากตัวบุคคล เครือข่าย หน่วยงานหรือองค์กร "ทำต่อ" คือ ทำสิ่งที่มีอยู่เดิมหรือปรับปรุงสิ่งที่ทำอยู่แล้วให้ดีขึ้น ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหรือหน่วยงานอื่นๆ ป้องกันการจมน้ำ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเสี่ยงได้มากขึ้น "ต่อขยาย" คือ ผลักดัน เพิ่มกลยุทธ์และวิธีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำอย่างเป็นวงกว้าง ลดปัญหาการจมน้ำในพื้นที่ เช่น สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย, สนับสนุนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย , เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปเรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ การเอาชีวิตรอดในน้ำ การช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำ, เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป มีทักษะปฐมพยาบาลและช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) คนตกน้ำจมน้ำ ให้บุคคลในองค์กรเป็นต้นแบบมีพฤติกรรมป้องกันจมน้ำ เช่น สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่เดินทางทางน้ำ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนหรือขณะทำกิจกรรมทางน้ำ