xs
xsm
sm
md
lg

อว. ร่วมกับ บพท. ลงพื้นที่ประเมินผลงาน มรภ.วไลยอลงกรณ์ฯ รับรางวัลสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเชิงพื้นที่ ชูผลงานเปลี่ยนของเหลือในชุมชนเป็นเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อว. ร่วมกับ บพท. ลงพื้นที่ประเมินผลงาน มรภ.วไลยอลงกรณ์ฯ รับรางวัลสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเชิงพื้นที่ ชูผลงานเปลี่ยนของเหลือในชุมชนเป็นเงิน สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากไหมอีรี่

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.นางสุวรรณี คำมั่น และ นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. พร้อมคณะ ลงพื้นที่ประเมินผลงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ
วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (มรภ.วไลยอลงกรณ์) ที่ส่งผลงานเข้าประกวดผลงานสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเชิงพื้นที่ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ที่ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงไหมอีรี่แบบครบวงจร ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว โดยมี รศ.ดร.ฐิติพร พิชญกุล รองอธิการบดี พร้อมด้วยคณาจารย์ จาก มรภ.วไลยอลงกรณ์ นายพลาย มั่นยืน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทัพเสด็จ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว นายกสิณสัตน์ ศรีศิวิไล หัวหน้าหน่วยส่งเสริมหม่อนไหม สระแก้ว โครงการศิลปาชีพศึกษาพัฒนาไหมไทยพื้นบ้าน ไหมดาหลา และแมลงทับ (กรมหม่อนไหมสระแก้ว) นายสมจิตร สังข์ชม พัฒนาการอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

รศ.ดร.ฐิติพร ได้นำเสนอโครงการว่า มรภ.วไลยอลงกรณ์ ได้เสนอผลงานไหมอีรี่สีทอง เป็นผลงานพัฒนาเพื่อชาวบ้าน เปลี่ยนของเหลือในชุมชนเป็นเงิน สร้างอนาคตทั้งเงินและงานอย่างยั่งยืน ซึ่งต่อยอดและขยายผลจากโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลฯ หรือ U2T ทั้ง 2 เฟส และได้รับรางวัล ชนะเลิศ U2T for BCG National Hackathon 2022 จากการพัฒนาเส้นบะหมี่อบแห้งผสมโปรตีนจากดักแด้ไหมอีรี่ หลังจากได้ลงพื้นที่ร่วมศึกษาและวิเคราะห์บริบทชุมชน ตลอดจนทราบปัญหาและความต้องการของชุมชน ซึ่งพบว่า อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เป็นอำเภอที่มีการปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดในจังหวัด เกิดวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในปริมาณมาก มรภ.วไลยอลงกรณ์ จึงได้เข้าไปส่งเสริมและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ได้แก่ กรมหม่อนไหม ในการนำใบมันสำปะหลังมาใช้เลี้ยงไหมอีรี่ เพื่อลดปริมาณใบมันสำปะหลังที่ถือเป็นขยะในชุมชน การต่อพันธุ์ไหมเพื่อผลิตไข่ไหมให้ได้มาตรฐาน และยังสามารถต่อพันธุ์ไหมจนกระทั่งได้ไหมอีรี่สีทองพันธุ์ใหม่และได้รับการขึ้นทะเบียนในชื่อ “ไหมมันสำปะหลังสระแก้ว” อีกทั้งยังมีการต่อยอดด้วยการนำดักแด้ของไหมอีรี่ ที่เป็นผลพลอยได้จากรังไหม มาเพิ่มมูลค่าในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เส้นบะหมี่อบแห้งผสมโปรตีนจากดักแด้ไหมอีรี่ นอกจากนั้น ยังได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับกรมพัฒนาชุมชน ในการเพิ่มช่องทางการตลาด เกิดนวัตกรชุมชนในพื้นที่ และเกิดการรวมกลุ่มผู้เลี้ยงไหมอีรี่จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มผู้เลี้ยงไหมอีรี่และแปรรูปผลิตภัณฑ์ไหมอีรี่ตำบลทัพเสด็จ” อีกด้วย

ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ผลงานที่มหาวิทยาลัยนำเสนอ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาพื้นที่โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งการประกวดผลงานในครั้งนี้ ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการสร้างผลงานของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างพลังแห่งความรู้ เพื่อพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ ตลอดจนความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้แสดงความชื่นชม มรภ.วไลยอลงกรณ์ ในการดำเนินงานจนเกิดเป็นผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ รวมถึงเป็นกลไกสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนใน ต.ทัพเสด็จ กับหน่วยงานต่างๆ ในการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา สร้างความเข้มแข็งและสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงไหมอีรี่แบบครบวงจร ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งแรกของ ต.ทัพเสด็จ ที่มีสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ของชุมชน ที่พัฒนาร่วมกับ มรภ.วไลยอลงกรณ์ อาทิเช่น เส้นบะหมี่อบแห้งจากดักแด้ไหมอีรี่ ผงโรยข้าวดักแด้ไหมอีรี่ และช็อกโกแลตดักแด้ไหมอีรี่ เป็นต้น






















กำลังโหลดความคิดเห็น