สธ.พัฒนาระบบแพทย์ฉุกเฉิน "ระนอง" ทั้งบก ทะเล อากาศ รองรับเมืองท่องเที่ยว สร้างระบบความปลอดภัยชายหาด การเดินทาง และส่งต่อผู้ป่วย เข้าถึงการรักษารวดเร็ว ทันเวลา อบรมปฐมพยาบาล วิธีใช้เครื่อง AED ช่วยชีวิตเกือบ 7,000 คน
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า จ.ระนองมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติจำนวนมาก เป็นหนึ่งในจังหวัดที่สร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยวให้กับประเทศ จึงมีการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งทางบก ทะเลและอากาศ รวมถึงความพร้อมของอุปกรณ์และบุคลากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ มีการทำงานเป็นทีมและประสานเป็นเครือข่าย ทำให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลและส่งต่อได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา ช่วยลดอาการรุนแรง ป้องกันการเสียชีวิต สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพฝั่งทะเลอันดามัน
นพ.กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางบก นอกจากการอบรมความรู้ให้กับหน่วยกู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่ ยังจัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการใช้เครื่อง AED ในการช่วยฟื้นคืนชีพ ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนผ่านการอบรมแล้วเกือบ 7,000 คน สำหรับทางทะเล มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยชายหาดและการเดินทางแก่นักท่องเที่ยว เช่น กำหนดจุดเสี่ยง จุดอันตราย ไว้ในแผนที่การท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มความระมัดระวัง การอบรมอาสาสมัครทางทะเลให้มีความรู้ทักษะการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ รพ.สต.เกาะพยาม ยังได้ทำ QR Code ติดไว้ ณ สถานที่ท่องเที่ยว ชุมชน และที่สาธารณะ ให้ผู้ประสบภัยแจ้งเหตุ แจ้งพิกัดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยกู้ชีพกู้ภัย เข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ส่วนทางอากาศ (Sky doctor) ได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จัดทำแนวทางการส่งต่อผู้ป่วย พร้อมประสานงานร่วมกับกองบินที่ 7 สุราษฎร์ธานี วางแผนการส่งต่อและกำหนดจุดในการลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ เพื่อให้ระบบการส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศมีศักยภาพมากขึ้น นอกจากนี้ โรงพยาบาลระนอง ยังได้พัฒนาคุณภาพบริการห้องฉุกเฉินและศูนย์สั่งการ เช่น ระบบ Telemedicine ให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแบบ Realtime แก่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งในจังหวัด เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการดูแลรักษาอีกด้วย