กรมสุขภาพจิต ห่วงสถานการณ์ "บูลลี่" ในโรงเรียนมากขึ้น จากความก้าวร้าวรุนแรงที่มีมากขึ้น และขาดความยืดหยุ่น อยู่กันเป็นมิตรน้อยลง เปิดใจกว้างกันน้อยกว่าก่อน ชี้ความก้าวร้าวมาจากการเลลี้ยงดู บางครั้งตกเป็นเหยื่อ ต้องสอนเด็กมีทักษะสังคมสร้างมิตร ลดขัดแย้ง เตือนครูระวังร่วมบูลลี่เด็กไม่รู้ตัว
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงสถานการณ์การบูลลี่ในโรงเรียนว่า หากติดตามจากข่าวจะพบว่าสถานการณ์มีมากขึ้นพอสมควร เรื่องนี้หากมองด้วยใจเป็นกลางมี 2 ประเด็น คือ พบความก้าวร้าวรุนแรงมีมากขึ้น อีกมุมคือความยืดหยุ่นระหว่างกัน การอยู่กันด้วยมิตรน้อยลง อย่างเช่นเมื่อก่อนการผลักอกเพื่อนมองว่าก็เพื่อนกัน หรือแค่โกรธกันเล็กน้อย จะมีความเปิดกว้างมากกว่า แต่เดี๋ยวนี้บ่อยครั้งพบพฤติกรรมดังกล่าวคือการบูลลี่แล้ว หากต่างฝ่ายต่างไม่ยืดหยุ่น ไม่เปิดใจ มองว่าเป็นการบูลลี่ พฤติกรรมการบูลลี่ก็จะเยอะมากขึ้น ยิ่งมีความเกรี้ยวกราดก้าวร้าวอยู่ในใจ แล้วบูลลี่ จะยิ่งเพิ่มดีกรีมากขึ้น
เมื่อถามถึงปัจจัยจากสภาพแวดล้อมและครอบครัวมีส่วนด้วยหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า เด็กหากได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเกรี้ยวกราดก้าวร้าว ก็จะรับความก้าวร้าวนั้นมาแสดงออกด้วยการเลียนแบบ หรือบางครั้งตัวเองเป็นเหยื่อของความก้าวร้าวนั้นก็ออกมาระบาย มาแก้แค้นคนอื่นบ้าง ดังนั้นกลไกความก้าวร้าวที่ส่งต่อมีได้ทั้งการเลียนแบบ และการระบาย ในสิ่งแวดล้อมนั้นถ้าเด็กคนเดิมมาจากครอบครัวที่อะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่มีการประนีประนอมใดๆ เลย นอกจากจะกระทำคนอื่นด้วยความรุนแรงแล้ว ก็อาจจะจ้องมองว่าใครสร้างความรุนแรงกับตัวเอง มีแต่มองเห็นสิ่งนั้นในแง่มุมลบ ก็จะเกิดความขัดแย้ง การกระทบกระทั่งที่เล็กก็จะนำไปสู่การเติบโตบานปลาย
"หลายเหตุของการบูลลี่อาจจะเกิดจากตะกอนเล็กๆ ที่ไม่ได้สื่อสารทำความเข้าใจกันตั้งแต่แรก ข้อมูลที่เราได้รับรายงานพบเด็กบางคนถูกบูลลี่มีความเปราะบางทางจิตใจมาก ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงจากการถูกบูลลี่เล็กๆ น้อยๆ หรือปรับแก้สถานการณ์บูลลี่เล็กๆ น้อยๆ ให้คืนตัวได้ เด็กบางคนจึงต้องการความช่วยเหลือ เช่น เจอเพื่อนเหน็บแนมก็รู้สึกแย่ พอเพื่อนเห็นใจน้อยลงยิ่งเหน็บแนมหนัก ก็เพิ่มความแย่มากขึ้น เป็นตัวอย่างของเด็กที่มีจุดอ่อนในตัวเอง ซึ่งต้องเข้าให้ความช่วยเหลือ" พญ.อัมพรกล่าว
พญ.อัมพรกล่าวว่า กับอีกกลุ่มพอถูกเหน็บแนมนิดหน่อยก็มองว่าเค้าไม่ชอบอะไรฉัน ก็พยายามใช้ทักษะทางสังคมในการสื่อว่าจะปรับความเข้าใจกันได้อย่างไร สร้างมิตรภาพขึ้นมาใหม่จากความขัดแย้งเดิม ซึ่งกลุ่มนี้เป็นการทำให้จุดเริ่มต้นของตะกอนการบูลลี่เล็กน้อยกลายเป็นมิตรภาพที่สวยงามได้ หากเราไม่สามารถทำให้เด็กมีทักษะทางสังคมเหล่านี้ได้ เราก็อาจจะเห็นแต่คู่ความขัดแย้งตามวัยที่เติบโต เป็นเรื่องที่ไม่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น
พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทุกโรงเรียนมีความตื่นตัวพยายามคลี่คลายแก้ปัญหาบูลลี่ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ร้ายๆ มักถูกปรากฏเป็นข่าว บางทีกลายเป็นต้นแบบของวงอื่นๆ ไปด้วย ดังนั้นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่นำเสนอวิธีคลี่คลายปัญหาไปด้วยจะเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือเป็นครูของสังคม
เมื่อถามถึงพฤติกรรมครูบางคนที่อาจจะร่วมวงบูลลี่เด็กด้วย พญ.อัมพร กล่าวว่า บางครั้งครูอาจจะไม่รู้เท่าทันว่าการแสดงอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ อาจจะมีผลกระทบกับเด็กมากมาย เพราะเด็กก็มีความหลากหลาย แต่บางครั้งครูเองก็มีความเครียด มีความทุกข์บางอย่างที่อาจจะปรับตัวจัดการกับตัวเองไมเท่าทัน แล้วหลุดออกทำให้แด็กๆ เกิดปัญหาได้ เพราะครูก็เป็นมนุษย์ธรรมดา แม้แต่คุณหมอเองก็เจอสถานการณ์เช่นนี้ได้ แต่เราก็คาดหวังว่าการสร้างบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกันในการทำงานจะทำให้คนที่อยู่ในความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน หมอ หรือใครสามารถที่จะจัดการอารมณ์ตัวเองได้ ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างกันได้