xs
xsm
sm
md
lg

อว. ร่วมกับ บพท.ลงพื้นที่ประเมินผลงาน มรภ.อุดรธานี เพื่อรับรางวัลสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเชิงพื้นที่ เผยใช้โครงการ U2T ทั้ง 2 เฟสมาสู่ Model ANi 43 อำเภอ ใน 4 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อว. ร่วมกับ บพท.ลงพื้นที่ประเมินผลงาน มรภ.อุดรธานี เพื่อรับรางวัลสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเชิงพื้นที่ เผยใช้โครงการ U2T ทั้ง 2 เฟสมาสู่ Model ANi 43 อำเภอ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และหนองบัวลำภู ผนึกสรรพกำลังทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมต่อยอดผลิตภัณฑ์สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 21 ก.ค.น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผอ.สถาบันคลังสมองของชาติ พร้อมด้วยนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สป.อว. พร้อมคณะลงพื้นที่ประเมินผลงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) อุดรธานี ที่ส่งผลงานเข้าประกวดผลงานสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเชิงพื้นที่ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ณ ที่ทำการอำเภอทุ่งฝน จ.อุดรธานี โดยมีนายกำธร วิเชฏฐพงษ์ นายอำเภอทุ่งฝน จ.อุดรธานี พร้อมด้วยผู้บริหาร มรภ.อุดรธานี และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการประกวดผลงานในครั้งนี้ว่า เป็นสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เกิดความตื่นตัวในการสร้างสรรค์ผลงานและเรียนรู้ที่จะนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีในมหาวิทยาลัย ไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่น โดยอาศัยการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ที่จะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืนต่อไป โดย มรภ.อุดรธานี เป็นสถาบันหนึ่งที่มีผลงานในการทำงานร่วมกับพื้นที่ และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน ดร.เอกราช ดีนาง รองอธิการ มรภ.อุดรธานี ได้เสนอผลงานโครงการบูรณาการเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น UDRU Amphoe Network Integrator : UDRU ANi ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดและขยายผลการพัฒนาเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ทั้งจากโครงการ U2T ทั้ง 2 เฟส มาสู่ Model ANi 43 อำเภอ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นการผนึกสรรพกำลังของคณาจารย์ในหลากหลายสาขาวิชาของมรภ.อุดรธานี มาทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงทรัพยากรทั้งในและนอกพื้นที่มาใช้พัฒนา ร่วมกับองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่งต่างมีทรัพยากรที่มีคุณค่า หากได้รับการพัฒนาต่อยอด หรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี เช่นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ จากอ้อยที่เป็นผลผลิตของ ต.ตาดทอง จ.อุดรธานี เห็ดจาก ต.หาดคำ จ.หนองคาย และข้าวกสิภัฏ ต.รัตนวาปี จ.หนองคาย เป็นต้น ดังนั้น มรภ.อุดรธานี จึงเป็นตัวอย่างของสถาบันอุดมศึกษาที่มีการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและบริการวิชาการไปใช้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาอําเภอ/จังหวัด ซึ่งสิ่งที่ได้ดำเนินการนี้ จะเป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยเกิดการปฏิรูประบบกลไกการบริหารจัดการศึกษาที่เอื้อต่อพันธกิจการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีทางสังคม และสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้แสดงความชื่นชม มรภ.อุดรธานี ในการดำเนินงาน จนเกิดเป็นผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาควายไทย และตลาดชุมชนอำเภอทุ่งฝน ที่จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ของชุมชน ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกับ มรภ.อุดรธานี อีกด้วย


















กำลังโหลดความคิดเห็น