xs
xsm
sm
md
lg

ศาสนาและการปรับตัวไปข้างหน้าพร้อมกับเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ
วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แม้ว่าในปัจจุบัน สภาพแวดล้อม รวมถึงแนวคิด มุมมองและความเชื่อของคนยุคใหม่ที่มีต่อศาสนาแตกต่างไปจากเดิม แต่ศาสนายังคงมีบทบาทอยู่ในสังคม และมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับยุคสมัย นำสื่อและเทคโนโลยีเข้ามาบทบาทในกิจกรรมของทางศาสนา เพื่อเข้าถึงง่ายและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ศาสนิกชนผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต หรือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การฟังเทศน์ การเข้าถึงหลักคำสอนผ่านการสืบค้นออนไลน์ การร่วมปฏิบัติศาสนกิจผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการสนทนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกลุ่มศาสนาได้อีกด้วย จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาของแพร่ระบาดของโควิด-19 ศาสนาเองก็ยังปรับตามสถานการณ์ ใช้เทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น เพื่อให้ศาสนิกชนสามารถร่วมปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ อาจารย์ประจำวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้มากขึ้น ด้วยคุณสมบัติของ AI ที่สามารถเก็บข้อมูล และประมวลผลได้ ทำให้มีการนำ AI เข้ามาใช้ในหลายสายงาน เช่น แวดวงการศึกษา แวดวงธุรกิจ สำหรับในแวดวงศาสนา ก็มีการนำ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแผ่คำสอน การประกอบพิธีกรรม เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนเพื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เช่น นักบวชหุ่นยนต์ ที่สามารถทำหน้าที่ทางศาสนา ท่องบทสวดมนต์ แสดงพระธรรมเทศนา รวมถึง AI ยังสามารถสร้างสภาพแวดล้อมเหมือนจริง ที่จำลองสถานการณ์พิธีกรรมทางศาสนา เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้ง สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจความต้องการและความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายได้ สามารถพูดคุย ส่งข้อความโต้ตอบ และยังอำนวยความสะดวกในการสื่อสารและติดตามของผู้คนที่ใช้งานได้ ตัวอย่างของการนำ AI ในการเผยแผ่ศาสนาคือ Mindar นักบวชหุ่นยนต์ที่แสดงคำสอนทางพุทธศาสนาที่วัดโคไดจิในเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้สคริปต์ที่ตั้งโปรแกรมไว้ล่วงหน้า เพื่อกล่าวกับผู้เข้าชมและตอบคำถามที่เกี่ยวกับคำสอนของศาสนา เพื่อดึงดูดผู้คนให้สนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น และเสนอมุมมองใหม่เกี่ยวกับความเชื่อดั้งเดิม หรือการนำ ChatGPT ซึ่งเป็นแชทบอทยอดนิยมในการสร้างแบบข้อความการสนทนากับผู้ใช้งาน มาใช้เพื่อการเผยแผ่ศาสนา โดยพูดคุยอย่างเป็นมิตรในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องความเชื่อ จิตวิญญาณ และปัญหาชีวิต นอกจากนี้ ChatGPT ยังสามารถให้ข้อมูลอ้างอิงจากคัมภีร์ คำแนะนำในการสวดมนต์ อธิษฐาน หรือการแบ่งปันข้อความธรรมะกับผู้ใช้ได้เช่นเดียวกับการพูดคุยกับนักบวชอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในทางกลับกัน การใช้ AI ในการเผยแผ่ศาสนา ย่อมทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อศรัทธา จริยธรรม และศีลธรรม ได้เช่นกัน โดยปัจจุบัน การใช้ AI ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนายังมีข้อจำกัด ด้วยผู้คนหรือศาสนิกชนมีทั้งยอมรับและไม่ยอมรับ และยังมีข้อระมัดระวังและสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการใช้งาน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ AI ที่ยังเป็นเรื่องใหม่ และยังไม่มีการพูดถึงหรือการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของกฎหมาย ประชากร ความพร้อมด้านอื่นๆ ทั้งเรื่องหลักจริยธรรม หรือการรับมือในรูปแบบใหม่ๆที่จะท้าทายกรอบในการคิดเชิงจริยธรรมแบบดั้งเดิมมากขึ้น
 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ อาจารย์ประจำวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
เบื้องต้น ผู้ใช้งานจึงต้องให้ความสำคัญกับการใช้งานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจรรยาบรรณ ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาแหล่งที่มาและคุณภาพของข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม เกิดการหลอกลวง และระมัดระวังในการเผยแพร่ข้อมูล การนำ AI มาใช้เพื่อจุดประสงค์ในการเผยแผ่หรือสอนศาสนา ในแง่หนึ่งแม้จะมีความสะดวก น่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปอย่างง่ายดาย และช่วยลดปัญหาในด้านต่างๆ เช่น ความน่าเชื่อถือของนักบวช แต่ในอีกด้าน การพึ่งพา AI มากเกินไป ก็อาจจะทำให้มนุษย์มองข้ามความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบตัวบุคคล ทั้งในระหว่างศาสนิกชน และศาสนิกชนกับนักบวชที่สืบทอดศาสนา ซึ่งในที่สุดอาจนำไปสู่การสูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจที่แท้จริง และ AI ก็อาจจะกลายมาเป็นศาสดาเสียเองจากการพึ่งพาของมนุษย์ ทั้งยังอาจจะนำไปสู่อันตราย หากผู้สร้าง หรือผู้ป้อนข้อมูล ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาหรือความเชื่อที่ก่อให้เกิดศรัทธาแบบผิดๆ จนนำไปสู่ความแตกแยกหรือปัญหาอื่นๆ ดังนั้นการใช้ AI ในวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องศาสนา ความเชื่อและศรัทธาจึงต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการใช้ AI กับปฏิสัมพันธ์ส่วนบุคคลและการทำกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งการสร้างและเผยแผ่ความเชื่อต่างๆด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า เทคโนโลยีและศาสนานั้นมีความเชื่อมโยงกันในรูปแบบต่าง ๆ และมีอิทธิพลต่อการพัฒนา ความหมาย และสร้างประวัติศาสตร์ต่อมนุษยชาติอย่างแยกไม่ออก เทคโนโลยีและศาสนาไม่ใช่โดเมนที่แยกจากกัน แต่เป็นส่วนประกอบของกันและกัน อีกทั้งเทคโนโลยีและศาสนายังมีส่วนในการกำหนดบรรทัดฐาน ค่านิยม และอัตลักษณ์ทางสังคม กล่าวโดยรวมความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับศาสนามีความเกี่ยวพันกันและสามารถมีอิทธิพลต่อความเชื่อและการยึดมั่นในศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ เทคโนโลยีอาจถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่หล่อหลอมการปฏิบัติทางศาสนา ช่วยในการตีความคำสอนทางศาสนา หรือแม้กระทั่งกลายเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจทางศาสนา ในทางกลับกัน มุมมองและแรงกระตุ้นทางศาสนาสามารถมีอิทธิพลต่อการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาปฏิสัมพันธ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลและสังคมให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น