xs
xsm
sm
md
lg

เด็กคนนั้น อยากฝันแบบนี้ ร่วมลงทุนความฝันกับ ‘Social Spark’ ไอเดียนวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพราะที่นี่มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เสมอ คำนี้คงไม่เกินจริงเท่าไหร่หากได้รู้จักกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. หนึ่งในองค์กรที่ทำงานขับเคลื่อนด้านเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ทษวรรษ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สสส. ได้ร่วมกับ สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) จัดกิจกรรม ‘Social Spark : ลงทุนความฝัน จุดไฟนวัตกรรมเปลี่ยนสังคม’ งานที่รวมเหล่านวัตกรรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ มาแชร์ไอเดียและโชว์ 21 นวัตกรรมสุดเจ๋งเปลี่ยนสังคมในรูปแบบตลาดนัดนวัตกรรม ซึ่งล้วนผ่านการทดลองในพื้นที่จริงจนพร้อมใช้ เพื่อให้องค์กรหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคธุรกิจที่สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ได้ร่วมเลือกลงทุน สนับสนุน หรือร่วมบริจาค เพื่อส่งผลงานเปลี่ยนสังคมเหล่าไปสู่ความยั่งยืน โดยเปิดทั้ง on site ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ และ online ผ่านทางเพจ SYSI : Society of Young Social Innovators

ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ่มเพาะนวัตกรคนรุ่นใหม่ อายุ 15 - 35 ปี ที่ สสส. ได้เข้าไปร่วมกับ สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) ออกแบบนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ที่หลากหลายนับตั้งแต่การแก้ไขปัญหาระดับบุคคล ระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับสังคม

วันนี้เราชวนไปคุยกับสองเบื้องหลังผู้ผลักดันนวัตกรคนรุ่นใหม่ นั่นคือ น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. และ ภาคีเครือข่ายที่ถูกออกแบบมาเพื่อเยาวชนโดยเฉพาะ นายธเนศ ศิรินุมาศ หัวหน้าฝ่ายออกแบบกระบวนการเรียนรู้และสร้างชุมชนนวัตกร สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI)

(น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส.)
“ต้องบอกว่า สสส. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่มีความฝัน มีไอเดียและมีความสามารถที่จะทำให้ไอเดียนั้นเป็นความจริง ในวันนี้อยากจะบอกว่า หากไม่ใช่เพราะพลังของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะทำงานร่วมกับคนทุกรุ่น สังคมก็คงยากที่จะฝ่าวิกฤตและสร้างโอกาสที่เสมอภาคให้กับคนทุกคนที่กำลังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ประสบปัญหาภาวะต่าง ๆ ในสังคม”

“ซึ่งจริง ๆ ความเหลื่อมล้ำมันมีหลายมิติมาก แม้แต่กิจกรรมดี ๆ ที่มักเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ก็นับเป็นความเหลื่อมล้ำเช่นเดียวกัน” น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. เล่าให้ฟังแบบง่าย ๆ ถึงหัวใจสำคัญของการเข้าไปผลักดันนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ สสส. เข้าไปสนับสนุนมากกว่า 4 ปี เพื่อเป้าหมายการสร้างสังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน ซึ่งภารกิจของ สสส. ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนสังคม สิ่งแวดล้อมและปัจจัยที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี


“ยกตัวอย่าง การมีกิจกรรมดี ๆ ที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว กิจกรรมสร้างเสริมต่าง ๆ มักจะอยู่ในจังหวัดใหญ่ อยู่ในตัวเมือง แต่เมื่อเราเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ในทุกพื้นที่ได้เสนอไอเดียลองทำ ทำให้เราเจอกับไอเดียที่มีความหลากหลายมาก ซึ่งเวลาเราพูดถึงนวัตกรรมบางทีเราจะไปนึกถึงว่าต้องเป็นเทคโนโลยี ดิจิทัล หรืออะไรที่มันว้าวมาก แต่จริง ๆ มันไม่จำเป็น มันก็แค่การที่เรามีปัญหาแล้วเราสามารถสร้างวิธีการแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหานั้น เป็นวิธีการใหม่ที่ได้ผล”

“ดังนั้น วันนี้เป็นงานที่ สสส. ภูมิใจแล้วก็อยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะขับเคลื่อนให้เกิดระบบนิเวศที่จะสนับสนุนให้พลังของคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาส ได้มีพื้นที่ที่จะได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายในสังคม เราเชื่อว่า คนรุ่นใหม่เชิญชวนไม่ยากเพราะอยากได้พื้นที่ในการที่จะแสดงพลังอยู่แล้ว แต่อยากจะเชิญชวนผู้ใหญ่ใจดี ใจกว้างทั้งหลาย มาช่วยกันทำให้เกิดระบบสนับสนุนที่เป็นระบบทั่วถึงและยั่งยืน รับช่วง ส่งต่อ สร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อทุกคนในสังคม”

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงหัวใจสำคัญ น.ส.ณัฐยา มองว่า “ความคิดสร้างสรรค์และความพยายาม” ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการตัดสินงานด้านสร้างเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคม ไม่เน้นความเพอร์เฟคของทีมแต่เน้นการเสริมพลังและกำลังใจ ให้คำชื่นชม ให้คำแนะนำในจุดที่น้อง ๆ ยังไปต่อได้ มากกว่าที่จะบอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี


“เรื่องแรกที่ สสส. เห็นคือศักยภาพของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่วัยรุ่นตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย ข้อที่ 2 เราในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ทำงานสร้างเสริมสุขภาพผ่านการสนับสนุนกลุ่มองค์กรเล็ก ๆ ทั่วประเทศเราจะได้เห็นศักยภาพของภาคีหน้าใหม่ที่จะเข้ามาร่วมกันทำงานที่เป็นประเด็นใหญ่ขึ้น ตอบโจทย์สังคมมากยิ่งขึ้นร่วมกับ สสส. ในอนาคต ข้อที่ 3 วันนี้เราเชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมเป็น Partner ก็เท่ากับว่าเป็นการขยายโอกาสและประโยชน์ให้กับน้อง ๆ ที่เข้าร่วม ซึ่งมากันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน องค์การมหาชน ก็นับเป็นประโยชน์ 3 ต่อ สุดท้ายสังคมได้ ไม่มีใครเสีย Win-Win ทั้งคู่”

“ปีนี้เป็นการจัดงานปีที่ 2 ซึ่งที่ผ่านมา สสส. มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง เราเก็บข้อมูลของน้องทุกคนที่เข้าร่วมโครงการแล้วก็มีกิจกรรมตลอดทั้งปีที่จะเชื่อมโยงเขาอยู่ตลอดเพราะว่าเราไม่อยากทำแล้วทิ้ง เวลาที่น้อง ๆ เข้าสู่โครงการนี้แล้วก็อยู่ร่วมกับเราจนจบ บางทีมันใช้เวลาประมาณ 6 - 8 เดือนหรืออาจจะเป็นปีในบางรุ่น มันหมายความว่าเรากำลังจะได้ Active Citizen (พลเมืองตื่นรู้) เรากำลังได้พลเมืองที่มีความเข้มแข็ง เราอยากที่จะให้พวกเขาเกาะกลุ่มอยู่ตรงนี้ ไม่ว่าในอนาคตเขาอาจจะเติบโตไปทำอาชีพอื่น แต่อย่างน้อยเครือข่ายความสัมพันธ์ตรงนี้จะเชื่อมเขาไว้ว่า ครั้งหนึ่งเราเคยเป็น Active Citizen และก็ยังคงเป็นได้อยู่” ผอ. สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าว

นายธเนศ ศิรินุมาศ หัวหน้าฝ่ายออกแบบกระบวนการเรียนรู้และสร้างชุมชนนวัตกร สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI)
อีกหนึ่งกระบอกเสียงของสำคัญของเยาวชนอย่างเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ หรือ SYSI ที่เกิดจากรวมตัวกันขององค์กรคนรุ่นใหม่ที่มีทิศทางการขับเคลื่อนสังคมในแนวทางเดียวกัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้โลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้นบนพื้นฐานประชาธิปไตย ความเท่าเทียมและความหลากหลาย

“พวกเราก็คือคนรุ่นใหม่ที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้มาก่อน” นายธเนศ ศิรินุมาศ หัวหน้าฝ่ายออกแบบกระบวนการเรียนรู้และสร้างชุมชนนวัตกร สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) เริ่มต้นแนะนำตัวและเล่าถึงการทำงานกับ สสส.

“พอเราเข้าร่วมโครงการ เราเติบโตไปตั้งองค์กร สสส. เลยเชิญชวนเรามาส่งไม้ต่อให้น้อง ๆ และสุดท้ายเกิดเป็นทีม SYSI โดยเป็นการพัฒนาหลักสูตรจากเดิมที่คนรุ่นใหม่เคยเรียนรู้อะไรมา ให้เป็นให้ตามเทรนด์มากขึ้น คือเทรนด์ยุคนี้เด็ก ๆ สนใจเรื่องนวัตกรรมสังคม เราก็เลยคิดเป็น Incubation Program เพื่อให้เขาบ่มเพาะนวัตกรรมทางสังคมในสิ่งที่เขาอยากทำ แล้วเราก็ทำหลักสูตรที่เฉพาะเจาะจงแต่ละรุ่นด้วย”


โครงการเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 รุ่น คือรุ่น Rookie (เริ่มต้น) รุ่น Semi Pro และรุ่น Turn Pro ซึ่งตลอดการทำงานนวัตกรรมจะได้รับการสนับสนุนเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมใน 4 ด้าน ได้แก่ Funding เงินทุนสนับสนุน Training การอบรมให้ความรู้ การทำงานเป็นทีม Networking เครือข่ายการทำงาน และ Monitoring มีที่ปรึกษาคอยให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตลอดโครงการ

“ต้องบอกว่า เราเปิดรับโครงการแบบหลากหลายประเด็นมากภายใต้การตอบโจทย์การพัฒนาสุขภาวะ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ รวมถึงปัญหาสังคมเพราะเรามีความเชื่อว่า การทำงานเป็นเครือข่ายแล้วเห็นปัญหาในมิติสังคมอื่น ๆ สุดท้ายแล้วเดี๋ยวมันจะวกเข้ามาเชื่อมโยงกันเอง”

“ถ้าถามว่า โครงการที่สมัครเข้ามาส่วนมากเป็นไปทิศทางไหน ซีซั่นที่แล้วส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการศึกษา เพราะว่าน้อง ๆ ในวัยนั้นเขาเจอปัญหากับตัวแล้วเขาก็สมัครเข้ามา มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วย ส่วนซีซั่นนี้ส่วนใหญ่เป็นประเด็นสุขภาพจิต ซึ่งอาจจะเป็นเพราะช่วงโควิด VUCA World อีกอย่างคนก็เครียดเยอะด้วย ซึ่งซีซั่นนี้มีการพูดคุยกันเรื่องความตาย การวางแผนความตายหรือว่าการดูแลประคับประคองก่อนที่เราติดเตียง ก็มีคนสมัครเข้ามาจริง ๆ” นายธเนศ เล่าถึงภาพรวม

(นายธเนศ ศิรินุมาศ หัวหน้าฝ่ายออกแบบกระบวนการเรียนรู้และสร้างชุมชนนวัตกร สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) และ (น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส.)
“แล้วมีอะไรจะแนะนำรุ่นถัดไปไหม” เราถามต่อ

หัวหน้าฝ่ายออกแบบกระบวนการเรียนรู้และสร้างชุมชนนวัตกร สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) ให้ความเห็นว่า หัวใจสำคัญสำหรับการสมัครเข้าประกวดนวัตกรรมทางสังคม ถ้าเป็นระดับรุ่นเด็ก อยากให้ประเด็นนั้นมาจากความต้องการของเด็กเอง ความพร้อมที่จะพัฒนา ศึกษาข้อมูลประเด็นนั้น ๆ ให้ดี ลงพื้นที่จริง มองหาช่องโหว่ของปัญหา ส่วนรุ่นใหญ่ สำหรับการต่อยอดเพื่อความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือทีม การมีทีมที่เข้มแข็ง วัฒนธรรมทีมตรงกัน สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาทำให้สามารถไปต่อได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ สำหรับทิศทางต่อไป SYSI จะมีการทำงานด้านพัฒนาควบคู่กันกับงานวิชาการและวิจัย เพื่อเก็บข้อมูลความต้องการของคนรุ่นใหม่และทิศทางสังคมที่ต้องการเดินหน้าต่อ เพื่อออกแบบโครงการให้เหมาะสมและตอบโจทย์ปัญหาในสังคมมากที่สุด

“ต้องบอกเลยว่า ตอนแรกเราเป็นคนหนึ่งที่อยากจะทำแบบนี้เหมือนกัน แล้วเราก็ตั้งคำถามว่า มันหาเลี้ยงชีพได้ไหม ตอนที่เราเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นก็ยังรู้จักองค์กรไม่เยอะ ตัวเลือกน้อย NGO บางองค์กรก็ดูจะเข้ากับคนรุ่นใหม่ไม่ได้ เพราะว่าพี่ ๆ ดูโตกันทั้งนั้นเลย แต่พอเราเริ่มมาทำเองและพบว่า มันมีองค์กรเยาวชนเกิดขึ้นแทบจะทุกไตรมาสเลย ซึ่งต้องบอกว่า เราดีใจที่มีคนมาช่วยกันเยอะมากขึ้นเพราะว่าลำพังในบางประเด็น อย่างเช่นการแก้ไขปัญหาเรื่องการศึกษาหรือว่าเสียงของเด็กในโรงเรียน ทำองค์กรเดียวบางทีเสียงไม่ดังแต่หลายองค์กรมาทำช่วยกัน แล้วยิ่งมาจากเสียงเด็กเอง มันอิมแพคมาก ๆ ซึ่งพอทำโครงการนี้ก็ร้องไห้ไปหลายรอบเลย เพราะว่าปลื้มใจมาก” นายธเนศ เอ่ย

(นายพันธุ์ธัช ปราการรัตน์ หนึ่งในทีมเอิ้ดเอิ้ด เครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ Rookie SS.2)
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีนวัตกรรมที่น่าสนใจหลากหลายมิติ อาทิ ทีมพ่อ-ลูก Make Happen กับนวัตกรรม AED4ALL (anyone can keep alive) แผนที่ออนไลน์รวบรวมตำแหน่งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตจากเหตุหัวใจเฉียบพลัน การพัฒนาศักยภาพนักเรียนพยุหะคีรี จาก NC-believer หรือจะมิติของพลังงานทางเลือกจากทีมแดนใต้ ปลายด้ามขวานของไทย Aridanta กับการพัฒนานวัตกรรม Everlec เพิ่มประโยชน์ของลูกระนาดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลิตไฟฟ้า ลดอุบัติเหตุ Dreamvation กับตู้ขยะกระตุ้นเศรฐกิจ แก้ไขปัญหาขยะใกล้ตัว หรือการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ในอำเภอพิมาย จาก PoonPin

หรืออีกหนึ่งทีมที่เราหยิบยกมาพูดคุยอย่าง ทีมเอิ้ดเอิ้ด กับ นวัตกรรมโคมไฟเอิ้ดเอิ้ด ที่พร้อมเข้ามาตอบโจทย์ทั้งวัยเรียนและวัยทำงานกับหลักการอุณหภูมิสีของแสงและเทคนิค Pomodoro

แต่ใครล่ะจะเชื่อว่า นวัตกรคนรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ชิ้นนี้ อย่าง นายพันธุ์ธัช ปราการรัตน์ นางสาวโรสลิล เมฆทวีพงศ์ และ นางสาวกชกร พุ่มสุข ยังเป็นเด็กนักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ที่รวมกลุ่มด้วยเป้าหมายเดียวกันคือการขับเคลื่อนสังคมด้วยการนำความสามารถที่แตกต่างกันแต่ละคนมาเติมเต็มและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง เพื่อมุ่งสู่สังคมนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้รูปแบบใหม่

“จริง ๆ ชื่อเต็มนวัตกรรมเราคือ โคมไฟส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยหลักการอุณหภูมิสีของแสงและเทคนิค Pomodoro ด้วยการประยุกต์ร่วมกับบอร์ด Arduino” หนึ่งในทีมนำเสนอ

จุดเริ่มของโคมไฟนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาไกลตัวที่ไหนเลย พวกเขาเล่าว่า “เราเป็นเด็กกลุ่มที่ต้องใช้โคมไฟ เนื่องจากว่าแต่ละหอพักมีไฟไม่เพียงพอ เช่น หอพักของเราต้องอยู่กัน 8 คนแต่มีไฟ LED ประมาณ 2-3 ดวง ซึ่งมันไม่พอต่อการใช้งานแล้วก็การเรียนรู้ ทำให้เด็กแต่ละคนต้องมีโคมไฟเป็นของตัวเอง”


‘โคมไฟเอิ้ดเอิ้ด’ ใช้หลักการเกี่ยวกับอุณหภูมิสีของแสงเข้ามาประกอบ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ คือระดับ Warm Light ระดับ Day Light หรือแสงในชีวิตประจำวัน และระดับ Cold Light ซึ่งเป็นแสงโทนเย็นสามารถสร้างความผ่อนคลายและเพิ่มความสบายให้กับดวงตา เช่นเดียวกับช่วงเวลาเย็นซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการผ่อนคลายมากที่สุด ผสมกับเทคนิค Pomodoro ซึ่งเป็นเทคนิคโดยการแบ่งเวลาการทำงานหรือเรียนรู้เป็นช่วง ๆ และมีช่วงพักเล็กน้อย ซึ่งสามารถเพิ่มสมาธิและยืดการทำงานของสมองจากปกติอยู่ที่ประมาณ 50 นาทีเท่านั้น

โดยผ่านการทดสอบกับโรงเรียนที่เป็น Target Group นั่นคือโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โครงการ วมว. โรงเรียนมหิดลวิทยานุศร และ Home School กว่า 1,000 คน

“ผลการตอบรับคือเราเห็นได้เลยว่า โคมไฟของเราลดความผิดพลาดของกลุ่มผู้ใช้งาน ลดอาการเหนื่อยล้าของดวงตาจากการเรียนแล้วก็สามารถเพิ่มระยะเวลาเรียนรู้ได้นานขึ้น แล้วถ้าถามว่า เรารู้ว่ามันลดความผิดพลาดได้ยังไง ต้องบอกว่าเรามีการสร้างแบบทดสอบทั้งตัวเลข รวมถึงเป็นชุดภาษาอังกฤษสำหรับท่องจำ แต่เป็นการทดสอบในเบื้องต้น ซึ่งสรุปได้ว่า เมื่อลดความเหนื่อยล้าได้แล้ว ก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง” นายพันธุ์ธัช กล่าวสรุป

อย่างไรก็ตาม สามารถติดตามสนับสนุนเหล่านวัตกรคนรุ่นใหม่ที่มีฝัน ซึ่งล่าสุดมีการขยายเวลารับบริจาคไปถึง 31 ก.ค. นี้ หรือร่วมส่งกำลังใจผ่านเพจ SYSI : Society of Young Social Innovators


กำลังโหลดความคิดเห็น