กรมวิทย์ฯ ทำแนวทางสั่งตรวจแล็บสมเหตุผล 10 เรื่อง ช่วยสั่งตรวจแล็บพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไปจนส่งผลเสียต่อผู้ป่วยและระบบสุขภาพ ช่วยประหยัดเงินกว่า 3 พันล้านบาทต่อปี เผยนำร่องเฟสแรก 3 แห่งประสบสำเร็จ มี รพ.สมัครร่วมเฟสสองอีกกว่า 340 แห่งทั้งรัฐและเอกชน
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายในงานสัมมนา “การตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (Rational Laboratory Use, RLU)” ว่า จากหลักการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ต้องมีความสมเหตุผล ไม่สั่งมากเกินความจำเป็นหรือน้อยเกินไป ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดผลเสียต่อทั้งผู้ป่วยและระบบสุขภาพ กรมวิทย์จึงร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุข มหาวิทยาลัย สมาคมแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ยกร่างแนวทางการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (RLU) เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้แนวทาง RLU ประกอบการตัดสินใจสั่งตรวจแล็บได้อย่างเหมาะสมต่อผู้ป่วย เบื้องต้นกำหนดไว้ 7 เรื่อง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคติดเชื้อ โรคความดันโลหิตสูง และการ Checkup โดยเริ่ม Kick off โครงการเฟส 1 เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ดำเนินการใน รพ.นำร่อง 23 แห่ง ครอบคลุม 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ผลการดำเนินงานมีนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและระบบสุขภาพ เช่น การปรับระบบ HIS ของ รพ.ให้มีการสร้างระบบ Pop up แจ้งเตือนแพทย์ เพื่อให้ทราบว่ามีการสั่งตรวจแล็บกับผู้ป่วยรายดังกล่าวแล้ว ทำให้แพทย์ไม่สั่งแล็บซ้ำ ปรับเมนูการสั่งแล็บให้เป็นการสั่งทีละรายการไม่เป็นชุด แจ้งเตือนความถี่ที่เหมาะสมในการสั่งตรวจแล็บ เพื่อจะได้ไม่ลืมการตรวจที่จำเป็นตามหลักวิชาการ มีระบบการสอบทานการสั่งตรวจแล็บโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีการพูดคุยทบทวนวางแนวทางที่เหมาะสมในการสั่งตรวจแล็บใน รพ.ให้เหมาะสมกับบริบท ทำให้หลาย รพ.มีผลสำเร็จที่แสดงด้วยการสั่งตรวจที่เหมาะสมขึ้น โดยบางแห่งสามารถแสดงถึงจำนวนและค่าใช้จ่ายที่ลดลงด้วย
"หลังนำร่องทำให้ รพ.อื่นเกิดความสนใจและสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายดำเนินการ RLU ในเฟส 2 อีกมากกว่า 340 แห่ง ทั้งรัฐและเอกชน ทั้งนี้ จากการเรียนรู้การดำเนินการในเฟสแรก ทำให้มีการเพิ่มเติมแนวทางอีก 3 เรื่อง คือ การตรวจก่อนการผ่าตัด การใช้เลือด และการตรวจไทรอยด์ ดังนั้น จึงจัดงานในวันนี้เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ ชี้แจงแนวทาง และถ่ายทอดการดำเนินการที่ประสบความสำเร็จจาก รพ.ในเฟสแรก เพื่อให้ รพ.ที่สมัครเข้าร่วมเฟส 2 ทราบแนวทางปฏิบัติ นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป หากมีการใช้แล็บอย่างสมเหตุผลจะสามารถประหยัดงบประมาณส่วนที่ไม่จำเป็นได้กว่า 3 พันล้านบาทต่อปี” นพ.ศุภกิจ กล่าว