xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันความเสี่ยง ช่วยเลี่ยงโรคมะเร็งลำไส้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...นพ.ณัฐชดล กิตติวรารัตน์ อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา รพ.เวชธานี


หลายปีที่ผ่านมามีแนวโน้มการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วย “โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่” สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าอัตราการเสียชีวิตกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองและวิทยาการด้านการรักษาที่พัฒนาไปมาก เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายมากที่สุด 

ความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ตลอดชีวิตจะพบบใกล้เคียงกันทั้งเพศหญิงและเพศชาย คือประมาณ 1 ต่อ 25 คน อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามความเสี่ยงอื่น ๆ ของผู้ป่วย ซึ่งโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากติ่งเนื้อหรือ Polyp ในลำไส้ใหญ่ โดยปัจจุบันยังไม่สามารถทราบสาเหตุการเกิดได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถแบ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้ 2 ประเภท   

ปัจจัยความเสี่ยงจากตัวบุคคล ได้แก่ 

• อายุ ในอดีตพบว่ามากกว่า 90% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ มีอายุมากกว่า 50 ปี และอายุเฉลี่ยที่พบคือ 60 – 65 ปี แต่ในช่วง 10 ปีหลังมานี้ อุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี เพิ่มขึ้นเรื่อน ๆ ผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุดตามรายงานคือ 18 ปี 

• ประวัติในครอบครัวและถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบว่า 20% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน 

• ประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ มีการศึกษาพบว่า ติ่งเนื้อบางชนิดสามารถพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่หากมีการตรวจพบและรักษาตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นติ่งเนื้อ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ 

ปัจจัยความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม 

• ภาวะน้ำหนักเกินและขาดการออกกำลังกาย จากการศึกษาพบว่าน้ำหนักตัวมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดโรค ขณะเดียวกันการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ทำให้ลำไส้มีการทำงานและเคลื่อนตัวมากขึ้น ผลในระยะยาวจะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 

• อาหาร ในอาหารบางประเภทจะมีสารก่อมะเร็งซ่อนอยู่ โดยเฉพาะอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แหนม หมูยอ ลูกชิ้น กุนเชียง และเนื้อแดงที่ถูกประกอบอาหารในความร้อนสูงจนเกรียมแบบปิ้งย่าง  

• การสูบบุหรี่ พบว่า 12%ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ 

• เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งมากยิ่งขึ้น  

ในระยะแรกของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ แต่เมื่อการดำเนินของโรคผ่านไปและติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่จนกลายเป็นมะเร็งแล้ว ผู้ป่วยจึงจะเริ่มมีอาการแสดงเกิดขึ้น เช่น การขับถ่ายมีเลือดหรือมูกเลือดปน ถ่ายอุจจาระก้อนเล็กลง ท้องผูกสลับท้องเสีย แน่นท้อง ท้องโต หรือคลำเจอก้อนในท้อง ดังนั้น หากได้รับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนักตั้งแต่อายุ 45 -50 ปี เมื่อมีการตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือสามารถป้องกันมะเร็งได้ถ้าตรวจเจอตั้งแต่เป็นติ่งเนื้อก่อนที่จะเป็นมะเร็ง 

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ระยะของโรค ตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็ง อายุ สภาพร่างกายและโรคร่วมของผู้ป่วย โดยมี 4 วิธีหลักที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ 

• การผ่าตัด เป็นการตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นรอยโรค และต่อมน้ำเหลืองออก  หรือในบางกรณีหากรอยโรคอยู่ที่ลำไส้ส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดทำทวารเทียม 

• การฉายรังสี เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด โดยฉายรังสีก่อนหรือหลังผ่าตัดก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้และการพิจารณาของแพทย์ ใช้ในมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก 

• ยาเคมีบำบัด อาจให้ก่อนหรือหลังผ่าตัด ร่วมกับการฉายรังสีหรือไม่ก็ได้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยระยะแรกเริ่ม 

• ยามุ่งเป้า (targeted therapy) ให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ชนิดของยาขึ้นอยู่กับการตรวจยีนจากชิ้นเนื้อ เพื่อวิเคราะห์การตอบสนองของยา (precision medicine) 

นอกจากนี้ ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ จึงมีวิธีการรักษาเพิ่มเติมที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และมีอายุที่ยืนยาวเพิ่มมากขึ้น เช่น ยามุ่งเป้า ยาภูมิคุ้มกันบำบัด หรือแม้แต่งานวิจัยล่าสุดอย่าง Cancer Vaccine และ Cancer Avatar ที่เปรียบเสมือนความหวังของผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจาย โดย Cancer Vaccine คือการจะนำโปรตีนเซลล์มะเร็งที่ได้จากก้อนมะเร็งของผู้ป่วยมาสกัดเป็นวัคซีนแบบจำเพาะบุคคลเพื่อช่วยกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวรู้จักหน้าตาของเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยและพร้อมทำลายเซลล์มะเร็ง

เมื่อใช้ร่วมกับยาภูมิคุ้มกันบำบัด ก็จะช่วยให้เม็ดเลือดขาวทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วน Cancer Avatar คือกระบวนการทดสอบการตอบสนองต่อยาก่อนที่จะใช้ในผู้ป่วยจริง วิธีการคือตัดชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและพัฒนาจนมีลักษณะคล้ายกับเซลล์มะเร็งที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งเปรียบเสมือนว่าเซลล์มะเร็งนั้นเป็นตัวแทนมะเร็งของผู้ป่วยจริง ๆ จากนั้นจึงนำมาทดสอบกับยารักษาแต่ละสูตรเพื่อดูการตอบสนองของเซลล์มะเร็ง ก่อนเริ่มใช้ยากับผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความมั่นใจและความแม่นยำในแนวทางการรักษาขั้นต่อไปได้ 

ทั้งนี้ การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุด สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่มาจากสภาพแวดล้อม ส่วนผู้ที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อหรือเนื้องอกที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ที่อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งในอนาคตได้ 




กำลังโหลดความคิดเห็น