xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความรุนแรงทางกายต่อเด็กอย่างต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่มักมองไปที่ความรุนแรงในผู้หญิงหรือภรรยา แต่ในความเป็นจริงแล้วความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวนอกจากเกิดกับผู้หญิงหรือภรรยาแล้ว เหยื่อที่ได้รับความรุนแรงได้เช่นกัน คือเด็กในครอบครัว จากข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2558-2559 ชี้ว่าร้อยละ 4.2 ของเด็กไทยอายุระหว่าง 1 ถึง 14 ปี เคยถูกลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงในบ้าน เช่น การถูกตีหรือตบที่ใบหน้า ศีรษะหรือหู หรือถูกตีซ้ำแล้วซ้ำอีก ฯลฯ หรือถ้าคิดเป็นจำนวนเด็กที่เคยถูกทำร้ายทางร่างกายอย่างรุนแรงเช่นนี้ มีจำนวนประมาณ 470,000 ราย ซึ่งผลของความรุนแรงด้วยการทำร้ายร่างกายในครอบครัวเช่นนี้ส่งผลให้เด็กมีปัญหาทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์

รองศาสตราจารย์ ดร. อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษา เรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความรุนแรงทางกายต่อเด็กอย่างต่อเนื่อง (Factors Influencing Continued Physical Violence against Children)” เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยครอบครัว ได้แก่ การอยู่อาศัยของพ่อแม่ในครัวเรือน ความเชื่อของครอบครัวในด้านการทำโทษเด็ก และสถานภาพด้านเศรษฐกิจครอบครัว ที่มีผลต่อความรุนแรงต่อเด็กอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดบาดแผลในใจที่ซับซ้อนของเด็กซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของเด็กในด้านความดื้อรั้นหรือความก้าวร้าวของเด็กยิ่งขึ้น และส่งผลให้พ่อแม่มีปัญหาด้านจิตใจหรือเกิดความทุกข์อันเกิดจากความดื้อรั้นหรือก้าวร้าวของลูก

โดยทำการศึกษาข้อมูล 2 โครงการที่มีครัวเรือนเป้าหมายเดียวกัน คือ โครงการแรก คือ โครงการผลกระทบของการย้ายถิ่นภายในประเทศที่มีต่อชีวิตวัยเด็ก: การศึกษาระยะยาวด้วยวิธีผสมผสาน ดำเนินการในปี 2556-2557 (WAVE 1) ในพื้นที่ชนบทของสองจังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดพิษณุโลกในภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการย้ายถิ่นทั้งภายในและภายนอกประเทศมากที่สุด ครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายนี้คือ ครัวเรือนที่มีเด็กอายุ 0-3 ปี อยู่ในบ้าน ที่มีจำนวนตัวอย่าง 1,080 ครัวเรือน และโครงการที่สอง เป็นโครงการผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อเด็กและครอบครัว ดำเนินการระหว่างวันที่ 22 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2563 (WAVE 2) โดยติดตามด้วยการประเมินอย่างรวดเร็ว (rapid assessment) เกี่ยวกับเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากครัวเรือนเดิมที่สำรวจใน WAVE 1 โดยสามารถติดตามครัวเรือนได้ทั้งหมด 854 ครัวเรือน หรือร้อยละ 79.1 และติดตามเด็กที่อยู่ในครัวเรือนใน พ.ศ. 2563 ที่มีอายุระหว่าง 7-10 ปี อย่างไรก็ตาม ใน WAVE 1 คำถามในเรื่องความรุนแรงต่อเด็กได้ถามผู้ปกครองในครัวเรือนที่มีเด็กอายุตั้งแต่ 2-3 ปี (ไม่ได้ถามผู้ปกครองที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี) จึงทำให้เหลือจำนวนครัวเรือนใน WAVE 2 ที่สามารถตอบคำถามนี้ได้เพียง 327 ครัวเรือน จำนวนตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเรื่องความรุนแรงต่อเนื่องที่มีต่อเด็กที่ได้ติดตามใน WAVE 2 จึงมีจำนวนเพียง 327 ครัวเรือน

ผลจากการวิเคราะห์ พบว่าความแตกต่างระหว่างเพศของเด็กมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงทางกายต่อเนื่อง โดยเด็กผู้ชายมีแนวโน้มที่จะถูกกระทำด้วยความรุนแรงทางร่างกายอย่างต่อเนื่องมากกว่าเด็กผู้หญิงถึง 1.8 เท่า ซึ่งพบถึงอคติทางเพศโดยเน้นไปที่เด็กผู้ชายโดนกระทำความรุนแรงทางกาย Hasanbegovic (2007) โดยอธิบายเรื่องเพศและความรุนแรงต่อเด็กว่า การลงโทษทางร่างกาย เป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กผู้ชาย ในขณะที่ความก้าวร้าวทางจิตใจเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กผู้หญิง โดยเชื่อว่าการทำร้ายร่างกายทำให้เด็กชายเติบโตอย่างเหมาะสมกับเพศของตน นอกจากนี้ Hasanbegovic (2007) และ Moynihan (1998) ได้เพิ่มเติมว่า ยิ่งสังคมมีทัศนคติที่สนับสนุนการลงโทษทางร่างกายของเด็กด้วยการตีด้วยแล้วยิ่งส่งเสริมความรุนแรงทางร่างกายมากยิ่งขึ้น และการที่แม่อยู่ในครอบครัวในช่วงที่ 1 แต่ไม่อยู่ในช่วงที่ 2 ส่งผลให้เด็กได้รับความรุนแรงทางกายต่อเนื่องลดลงถึง 86% (Odd ratio=.144, sig. at 0.01 level) การพบเช่นนี้สามารถอธิบายด้วยเหตุผลเรื่องความเครียดของผู้เป็นแม่ การศึกษาของ Whipple & Webster-Stratton (1991) พบว่าการมีประวัติทำร้ายเด็ก และแม่ที่ถูกทารุณกรรมโดยคู่สมรสทำให้เกิดความเครียดซึ่งความเครียดนี้ส่งผลต่อความรุนแรงทางกายต่อเด็ก

นอกจากนี้ ใน WAVE 2 เป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 การล็อคดาวน์เปิดโอกาสให้แม่อยู่กับลูกมากขึ้น ดังนั้นแม่ต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งในการอบรมเลี้ยงดูเด็กพร้อม ๆ กับความเครียดด้านสถานภาพเศรษฐกิจในช่วงระบาดของโควิดด้วย ความรุนแรงทางกายต่อเด็กอย่างต่อเนื่องในครอบครัวที่แม่อยู่กับลูกทั้งสองช่วงเวลาจึงเกิดขึ้น มากกว่าครอบครัวที่แม่ที่อยู่ในช่วงแรกแต่ต่อมาใน WAVE 2 ไม่อยู่กับลูก แต่เนื่องจากข้อมูลการสำรวจของทั้งสองช่วงเวลาไม่มีการถามถึงเรื่องความรุนแรงในครอบครัวของสามีภรรยา ทำให้การศึกษานี้ไม่สามารถชี้ได้ชัดเจนไปที่ความรุนแรงทางกายของเด็กที่ได้รับเกิดจากความรุนแรงที่เกิดจากการทำร้ายกันระหว่างสามีภรรยาและลูกได้รับความรุนแรงไปด้วย

ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อมาคือ สถานภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือน พบว่าความสัมพันธ์ทางลบต่อความรุนแรงทางกายต่อเด็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยที่ผ่านมาที่พบว่าความเสี่ยงของการเกิดความรุนแรงในครอบครัวเกิดจากการขาดแคลนทรัพยากรในครอบครัว ประการสุดท้าย การเห็นด้วยของผู้ดูแลว่า การตีเป็นวิธีอบรมสั่งสอนลูกยังคงมีความสำคัญกับความรุนแรงทางกายอย่างต่อเนื่องโดยมีความสัมพันธ์ทางบวก แสดงว่าครอบครัวที่ใช้การตีเป็นวิธีอบรมสั่งสอนลูกมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดความรุนแรงทางกายถึง 1.7 เท่า เมื่อเทียบกับครอบครัวที่ไม่ได้ใช้วิธีการตีในการสอนลูก ครอบครัวไทยบางครอบครัวยังมีแนวคิด “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของประเทศจีนที่พบว่าพ่อแม่บางคนยังคงใช้แนวคิดอนุรักษ์ที่เห็นว่าการลงโทษทางกายนั้นเป็นประโยชน์สำหรับเด็ก

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. อุมาภรณ์ ได้ให้ข้อเสนอแนะด้านนโยบายว่า “ปัจจัยครอบครัวไม่ว่าเป็นเรื่องการอยู่อาศัยของแม่ในบ้าน เศรษฐกิจครอบครัว และ ความเชื่อของครอบครัว เรื่องการทำโทษเด็ก มีผลต่อความรุนแรงต่อเด็กอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหน่วยงานรัฐน่าจะมีการเข้าไปช่วยเหลือด้านให้เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวที่ยากจนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลโดยอ้อมให้แม่ไม่เครียดมากในบทบาทสองอย่างนั่นคือ การต้องทำงานบ้านรวมทั้งคอยอบรมสั่งสอนลูก และการทำงานหารายได้ให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง สำหรับความเชื่อของครอบครัวในเรื่องแนวคิด “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” อาจจะใช้ได้ในสังคมที่ไม่มีความซับซ้อนมากนักอย่างเช่นสมัยก่อน แต่ในปัจจุบันแนวคิดเรื่องนี้อาจไม่สามารถใช้ได้กับเด็กในปัจจุบันที่สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น หน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ควรรณรงค์หรือประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองและพ่อแม่ได้ลดความเชื่อเช่นนี้ลง และชี้ให้เห็นผลกระทบที่เกิดจากการทำโทษเด็กว่าอาจมีผลกระทบต่อเนื่องกับเด็กในอนาคต”












กำลังโหลดความคิดเห็น