xs
xsm
sm
md
lg

เปิด "มินิธัญญารักษ์" ใน รพ.ชุมชน ช่วยผู้ป่วยเลิกเสพยา 91% ลุยขยายทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์เปิด "มินิธัญญารักษ์" ทางเลือกบำบัดยาสพติด นำร่อง รพ.กุดชุม พบช่วยเลิกยาได้ ไม่เสพซ้ำ 91% คุณภาพชีวิตปานกลาง 90% ขยายเพิ่มอีก 2 แห่ง ล่าสุดที่ รพ.ศรีเมืองใหม่ อุบลฯ จ่อขยายลง รพ.ชุมชนที่พร้อมทั่วประเทศ อบรมเพิ่มใน ก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้มีการปรับระบบการบำบัดรักษาจากเดิม คือ ระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัด และระบบต้องโทษ เป็นการสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา และได้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดในระบบต่างๆ ให้กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานหลักดำเนินงาน เน้นกลไกสาธารณสุขแทนดำเนินคดีทางอาญา โดยถือว่าผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการดูแลบำบัดรักษา ลดอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพระยะยาวใน รพ.เฉพาะทางซึ่งมีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ จึงมีแนวคิดขยายพื้นที่บริการและเพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วยยาและสารเสพติดในเขตสุขภาพ ลดความแออัด

นพ.ชาญชัย ธงพานิช ผอ.รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น กล่าวว่า มีแนวคิดขยายบริการสู่เขตสุขภาพ ด้วยร่วมมือ รพ.ชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อม ใช้แนวคิด “Mini Big C” ที่นำห้างสรรพสินค้าลงสู่ชุมชนในรูปแบบร้านสะดวกซื้อ จึงได้นำแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาและสารเสพติดระยะกลาง (Intermediate Care) และระยะยาว (Long term Care) ภายใต้ชื่อ “มินิธัญญารักษ์” และพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติดระยะยาวใน รพ.ชุมชน เขตสุขภาพที่ 7, 9 และ 10 ซึ่งเป็นรูปแบบ Long term Care ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2564 ที่ รพ.กุดชุม จ.ยโสธร ช่วยผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น สะดวกต่อการเดินทาง ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการเดินทางมารับการรักษาใน รพ.เฉพาะทาง แก้ปัญหาเตียงไม่เพียงพอ ลดความแออัด

"เป้าหมายสูงสุดคือ ผู้ป่วยยาเสพติดที่บำบัดได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง ติดตามจนกลับมาประกอบอาชีพโดยสุจริตได้ นอกจากนี้ รพ.ชุมชนยังมีโอกาสพัฒนาศักยภาพ เพิ่มอัตราครองเตียง เพิ่มค่าความยากง่ายในการวินิจฉัยโรคร่วม และเพิ่มคุณภาพบริการของ รพ.ชุมชนให้มากขึ้นด้วย" นพ.ชาญชัยกล่าว

นพ.ชาญชัยกล่าวว่า ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 ถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยผ่านการบำบัดรักษาแล้ว 149 ราย อยู่ระหว่างบำบัด 12 ราย ภายหลังบำบัดผู้ป่วยได้รับทุนประกอบอาชีพ 1 ราย หลังบำบัดฟื้นฟูฯ ผู้ป่วยยังคงอยู่ในการติดตามดูแลต่อเนื่อง 98.37% สามารถเลิกยาเสพติด ไม่กลับไปเสพซ้ำ 91.89% เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดีขึ้น มีความรับผิดชอบ ช่วยงานอาชีพในครอบครัว คะแนนคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง 90.24% ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 และ 2566 เปิดบริการเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ รพ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างบำบัด 11 ราย และ รพ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี เปิดให้บริการในวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา

"ได้ขยายผลโครงการดังกล่าวสู่ รพ.ชุมชนที่มีความพร้อมทั่วประเทศ ปัจจุบันมี รพ.ชุมชนแจ้งความประสงค์เปิดให้บริการแล้วกว่า 33 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมด้านบุคลากรซึ่งจำเป็นต้องผ่านการอบรมเฉพาะทางด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติด ซึ่งสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมมราชชนนี และ รพ.ธัญญารักษ์ทั้ง 6 แห่ง จะดำเนินการใน ก.ค.นี้" นพ.ชาญชัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น