xs
xsm
sm
md
lg

ชวนดูความสำเร็จปีที่ 12 จากพลังของคนท้องถิ่น กับงาน “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การสานพลังของคนตัวเล็ก ๆ จากหลากหลายชุมชน ก่อเกิดเป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาและออกแบบจากคนท้องถิ่น เพื่อคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารขยะ โรงเรียนแก้หนี้ การขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัย โรงเรียนผู้สูงอายุ ระบบเฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว(PODD) ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด-เปิด กองทุนหมวกกันน็อคเพื่อผู้สูงอายุ

ความสำเร็จเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงภาพสะท้อนความร่วมมือที่เป็นปึกแผ่น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถยกระดับและก้าวผ่านขีดความสามารถด้วยพลังของตนเอง ทั้งนี้ก็เพื่อร่วมกันสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่และสร้างสุขภาวะชุมชนอย่างยั่งยืน

ต้องบอกว่า นี่คือหนึ่งในความสำเร็จของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ที่ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นท้องที่ (กำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน) ตลอดจนองค์กรชุมชนและหน่วยงานรัฐในพื้นที่ มากว่า 12 ปี ซึ่งล่าสุดเพิ่งมีการจัดงาน “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 วาระ : พลังชุมชนท้องถิ่น ตอบโจทย์ประเทศ โดยมี 500 ตำบลและผู้เข้าร่วมกว่า 4,000 คน ร่วมปิดฉากไปอย่างอบอุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า 3,526 ตำบลทั่วประเทศไทย

3 คีย์เวิร์ดสำคัญ สานพลัง สร้างนวัตกรรม สร้างสังคมสุขภาวะ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“แม้ว่าเราจะดึงพี่น้องเข้ามาร่วมกันได้มาก แต่ก็ยังอยู่แค่ 3,526 ตำบลเท่านั้น อาจยังไม่ถึงครึ่งของที่มีทั้งหมด เราคิดว่า นี่คือฐานทุนที่สำคัญ จากนั้นค่อยต่อยอดเข้าไปในเชิงคุณภาพ ซึ่งเราหวังว่า เวทีนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา และหวังว่า Critical Mass ก้อนนี้จะเป็นต้นทุนในการขยายไปสู่ที่เหลือได้ ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า ครอบครัว สสส.”

“ตอนนี้ทุกท่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา เราเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน เป็นครอบครัวใหญ่และมีความหลากหลาย ซึ่งผมเชื่อว่า เราทั้งหมดมาด้วยวิสัยทัศน์เดียวกันคือทำให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีวิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งทุกแผน ทุกงานที่ สสส. ทำก็พุ่งเข้าไปหาวิสัยทัศน์นี้เช่นเดียวกัน”

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ่ยต่อว่า สสส. มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 โดยเป็นการบูรณาการทำงานทั้งภายในองค์กร และเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น โดย สสส. เป็นผู้สนับสนุนที่จะทำหน้าที่ทั้ง “จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง”

“สานพลังนวัตกรรมใหม่ในพื้นที่ เชื่อมโยงองค์กรเป็นเครือข่าย กระตุ้นให้เกิดโครงสร้างของพื้นที่เข้มแข็ง มีผู้นำที่เข้มแข็ง รวมทั้งระบบข้อมูลและที่สำคัญคือเชื่อมโยงกับภาครัฐในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง”

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อย่างไรก็ตาม สำหรับการทำงานในก้าวต่อไป แผนสุขภาวะชุมชน ถือเป็น 1 ใน 15 แผนของ สสส. ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเชื่อว่า ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นเป็นทุนทางสังคม และศักยภาพให้กับทุกคน ทุกครอบครัว ทุกชุมชน ทุกตำบล เป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญคือ 1. สานพลัง ทั้ง 4 สาน 1. พลังพื้นที่ 3,526 ตำบล 2. พลังผู้นำ 397,771 คน 3. พลังนวัตกรรม ทั้งเชิงระบบ กระบวนการ เทคนิค 4. องค์กรเป็นโครงข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิชาการ องค์กรร่วมพัฒนาเอกชน 2. สร้างนวัตกรรม ขับเคลื่อนเป้าหมายหลัก 7 ประเด็น ยาสูบ แอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด อาหาร กิจกรรมทางกาย ความปลอดภัยทางถนน สุขภาพจิต มลพิษจากสิ่งแวดล้อม และปัจจัยเสี่ยงอื่น และการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของชุมชนท้องถิ่น 6 ประเด็น การรับมือภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลเด็กปฐมวัย การควบคุมโรคติดต่อ เศรษกิจชุมชน โครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม 3. สร้างสังคมสุขภาวะ นำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่สอดประสานกับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ

ซึ่งอีกหนึ่งสิ่งที่ ผู้จัดการ สสส. เน้นย้ำนั่นคือจำเป็นต้องดึงเยาวชนและคนรุ่นใหม่ร่วมเป็นแกนนำ ซึ่งเด็กเหล่านั้นจะมีทักษะและการตอบโจทย์ปัญหาในทศวรรษใหม่ได้ดีกว่า พร้อมปรับตามเทคโนโลยี ดิจิตอล และท้ายสุดด้วยการพิสูจน์ถึงผลลัพธ์ทางสุขภาพจากชุมชนที่เข้มแข็งที่วัดได้จากระบบฐานข้อมูลที่วางไว้

“สสส. ไม่ได้หวังแค่ให้ภาพรวมสุขภาวะของคนไทยดีขึ้นเท่านั้น แต่หวังว่าการที่ดีขึ้นนั้น ต้องไม่ใช่เพียงตัวเลขค่าเฉลี่ย แต่ในกลุ่มคนที่ได้เปรียบ เสียเปรียบ อยู่ตรงกลางจะดีขึ้นไปด้วยโดยไม่มีความเหลื่อมล้ำหรือไม่เพิ่มความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น” ดร.สุปรีดา กล่าว

ทางออกสู่ความยั่งยืน


ในขณะเดียวกัน ความคิดเห็นจากเวทีเสวนา “สสส. ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” กับประเด็นการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ในมุมของ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการการบริหารแผน คณะที่ 7 สสส. ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ โดย รศ.นพ.สรนิต ชี้ให้เห็นว่า การขับเคลื่อนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ต้องร่วมกันขับเคลื่อนแก้ปัญหา 3 ประเด็นสำคัญให้ได้ นั่นคือ 1.เปลี่ยนประเด็นไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

บางโครงการไม่สำเร็จ บางโครงการงบประมาณหมด หรือบางโครงการพิสูจน์ประเด็นปัญหา แต่กลับไม่มีผลลัพธ์ที่สามารถนำไปใช้ต่อได้แม้กระทั่งในพื้นที่ที่โครงการดำเนินการ นั่นคือประเด็นหลักที่ทำให้ปัญหาวนกลับมาจุดเดิม 2.ต้องทำผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในพื้นที่ทดลอง ต้องมองไปถึงการขยายผลให้อีก 60 ล้านคนในประเทศ รวมทั้งหน่วยงาน พื้นที่อื่น ๆ นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร 3.ความร่วมมือเชิงลึก แม้ประเทศไทยจะมีหน่วยงาน มีโครงงาน มีองค์กรจำนวนมาก แต่จำเป็นต้องการความร่วมมือ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การตั้งคณะกรรมการ ตั้งโครงงานและเข้ามาเจอกันเดือนละครั้งเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบอย่างจริงจัง และมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนความร่วมมือแบบผิวเผินสู่เชิงลึก

“แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี นั่นคือคำถามต่อไป ผมมองว่า 1.ออกแบบโครงงานแบบสุดซอย ต้องมีการคิดให้ละเอียดและชัดเจน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 2. แก้ไขปัญหาอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล เปลี่ยนการพึ่งพาสมมติฐาน ความเชื่อ หรือประสบการณ์เป็นการนำข้อมูลเข้าสู่กระบวนการออกแบบ 3.ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินและวิจัย เป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาการทำงาน เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาและหาวิธีการแก้ไขอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 4.อาศัยความเข้มแข็งตัวบุคคลและชุมชน พิจารณาถึงการใช้ทรัพยากรและความร่วมมือจากบุคคลและชุมชนที่เกี่ยวข้องสำหรับการสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่

“วันนี้เดินเข้ามาในงานชื่นชมมาก ๆ เลย เราเห็นพื้นที่ เห็นกลุ่มคนที่เป็นพลังที่นั่งอยู่ในห้องนี้ หรือแม้แต่กลุ่มคนที่อยู่ออนไลน์ ผมอยากให้คุณรู้ว่า คุณคือหัวจักรสำคัญที่จะนำพาประเทศช่วยทำให้สุขภาวะของคนไทยอีก 60 กว่าล้านคนเปลี่ยนไป นั่นคือจุดที่เราอยากจะเห็นและเราอยากเป็น”

ฟันเฟืองชิ้นเล็ก แต่มีพลังที่ยิ่งใหญ่


และอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของความสำเร็จที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีเป้าหมายสำคัญคือร่วมกันรับผิดชอบทำให้ชุมชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศมีความเข้มแข็ง ต้องยอมรับว่า ในระยะแรกเป็นการทำงานโดยเน้นเชิงปริมาณ ซึ่งมีความสำคัญมาก แต่ในปัจจุบันต้องเน้นการยกระดับเพิ่มคุณภาพและความมั่นคงให้มากขึ้น นั่นถึงจะเกิดความยั่งยืนในลำดับสุดท้าย
“เพราะเราเชื่อว่า ชุมชนมท้องถิ่นคือเสาหลักของประเทศ” ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เน้นย้ำ

“หนึ่งสิ่งที่เราค้นพบคือฐานของความเข้มแข็งของชุมชน ต้องประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ ท้องถิ่น ท้องที่ ประชาชนในพื้นที่ และภาครัฐ ที่จะหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ก้าวไปในทิศทางเดียวกันเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน โดยมีเครื่องมือก็คือ “ศาสตร์ของพระราชา” ที่ว่าด้วยการพัฒนา เข้าใจ เข้าถึงพัฒนาเรื่องข้อมูล เรื่องการมีส่วนร่วม เรื่องของ “ระเบิดจากข้างใน” พลังของชุมชนซึ่งเต็มไปด้วยพลังที่มีอยู่มากมายมหาศาล นอกจากนั้นแล้วก็เรื่องของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งทำให้เราอยู่ได้กับทุกการเปลี่ยนแปลง ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้”

“และสิ่งที่เราพยายามให้ความสำคัญคือเรื่องของคน เราอยากเห็นคนของเราเป็นคนที่มีปัญญา มีคุณธรรม ซึ่งนี่คือปัจจัยความสำเร็จและเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนไปสู่ความความยั่งยืน”


โดยช่วงท้ายของการจัดงาน ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นำ สสส. พร้อมด้วยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมประกาศ 8 เจตนารมณ์ โดยมุ่งสานพลังร่วมสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน 26 เป้าหมาย ได้แก่ 1. ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะที่เท่าเทียม 2. ร่วมสร้างเศรษฐกิจชุมชนวิถีใหม่ สนับสนุนการรวมกลุ่ม กลุ่มอาชีพ 3. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ สร้างข้อตกลงของชุมชนท้องถิ่นในการตั้งรับปรับตัว จัดทำแผนรับมือจัดการภัยพิบัติ 4. วิวัฒน์ระบบสุขภาพ กระจายอำนาจสู่ชุมชน 5. ร่วมสร้างคุณภาพสังคมสูงวัย 6. ร่วมสร้างระบบอาหารชุมชน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร 7. ร่วมสร้างสังคมเกื้อกูลเพื่อดูแลกลุ่มจิตเวชและกลุ่มเปราะบาง 8. ร่วมสร้างสุขภาวะเขตเมือง ผลักดันให้มีการสนับสนุน และสานกันเป็นพลังของชุมชนท้องถิ่น เข้าสู่วาระการพัฒนาในทุกระดับเพื่อตอบโจทย์ประเทศ

“เราขอยืนยันว่า เครือข่ายของพวกเราเดินมาถูกทางแล้ว เครือข่ายของพวกเราคือเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดและมีความเกี่ยวพันไม่ใช่เฉพาะเรื่องของภารกิจการงานแต่เราผูกพันธ์ไปถึงจิตใจ จิตวิญญาณร่วมกัน ขอให้พวกเราทุกคนผดุงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้เพิ่มมากขึ้น และผมหวังว่า ในงานวันนี้จะสามารถสร้างพลังและความร่วมมือได้มากขึ้น จากเดิมที่มีพลังภายนอกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรมหาชน ซึ่งพลังต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเราก้าวหน้าต่อไป” นายสมพร กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น