xs
xsm
sm
md
lg

สสส.เปิดเวทีครั้งแรก ดึงคนทำงานร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก-เยาวชน กทม.แบบไร้รอยต่อ เน้นป้องกันปัญหา 4 มิติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส.เปิดเวทีสานพลังพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก!! เดินหน้าเชื่อมโยงนวัตกรรมและทุกหน่วยเพื่อดูแลเด็กและเยาวชนจากครอบครัวเปราะบางแบบไร้รอยต่อ เน้นป้องกันปัญหา 4 มิติ “การเรียนรู้-สังคม-ความเป็นอยู่-สุขภาพ” ตั้งเป้าไม่มีเด็กตกหล่นจากระบบดูแลช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่โรงแรมเดอะบาซาร์ โฮเทล กทม. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายและศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน จัดเวทีสานพลังเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ในพื้นที่ กทม. โดย น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญแก่สุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในเขตเมือง ซึ่งมีปัญหาซับซ้อนเฉพาะตัว จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จึงจัดให้มีพื้นที่สานพลังการทำงานของภาคีเครือข่าย หรือ Connect Circle สำหรับครั้งนี้เป็นเวทีสานพลังคนทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในพื้นที่กทม. จัดขึ้นเป็นครั้งแรกและจะจัดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก กทม.เป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนสูงทั้งปัญหาและโอกาส ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน อาจมีงานบางอย่างยังซ้ำซ้อน บางอย่างยังมีช่องว่าง


สสส.จึงจัดพื้นที่กลางให้คนทำงานได้มา “รู้จักเพื่อน-รู้จักงาน” แลกเปลี่ยนความร่วมมือในเรื่องต่างๆ ทำให้เกิดเครือข่ายงานที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น เกิดโครงการร่วมระดับพื้นที่ไปจนถึงการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน เกิดการใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน มีระบบปฏิบัติงานที่เชื่อมร้อยกันแบบไร้รอยต่อ เพื่อไม่ให้มีเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะจากครอบครัวเปราะบางตกหล่นจากการดูแลช่วยเหลือ เช่น การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” ที่เชื่อมโยงบริการของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งผู้บริหาร กทม.ตั้งเป้าหมายนำร่องใน 6 เขต 6 โซนของ กทม. ภายหลังการเปิดเวทีทำให้มีพื้นที่เขตสนใจเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วกว่า 10 เขต


น.ส.ลัพธวรรณ ลีรพงษ์กุล คณะอนุกรรมการพัฒนาศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนและการดูแลเด็กปฐมวัยในพื้นที่กทม. กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานด้านเด็กปฐมวัยในพื้นที่ กทม. ในปี 2566-2567 ให้ความสำคัญกับทั้งการพัฒนาโครงสร้าง หลักสูตร และบุคลากร โดยใช้งบประมาณ กทม. และ CSR จากภาคเอกชน เพื่อปรับปรุงกายภาพของโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กให้มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน ปรับโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 100 คน เป็นอนุบาล กทม.นำร่อง และปรับระเบียบการจัดตั้งชุมชนแบบพิเศษเพื่อให้จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กได้มากขึ้น สร้างและปรับปรุงกายภาพพื้นที่กิจกรรมและนันทนาการ เช่น พิพิธภัณฑ์เด็ก หอสมุดเมือง ศูนย์กีฬา ปรับคุณสมบัติและเพิ่มอัตราค่าตอบแทนอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กตามวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ จัดอบรมมาตรฐานหลักสูตรและการประเมินผล นอกจากนี้ ศูนย์เด็กเล็ก กทม. ปรับลดอายุเด็กที่สามารถเข้ารับบริการจากเดิม 2 ปี เป็น 1 ปี 6 เดือน โรงเรียนสังกัด กทม. ขยายชั้นเรียนอนุบาลเป็นอนุบาล 1-3 ปรับลดอายุลงจากเดิม 4 ปี เป็น 3 ปีในปีการศึกษา 2567 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการ กทม. ในการพัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็กใกล้ชุมชนและแหล่งงาน รวมถึงส่งเสริมหลักสูตร คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น สำหรับเด็กช่วง 0-8 ปี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เติบโตเป็นอนาคตที่มีคุณภาพของเมืองและของประเทศต่อไป


นางเพ็ญศรี สงวนสิงห์ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สวน. และภาคีเครือข่าย พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเติมเต็ม ต้นแบบระบบจัดการร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง ระหว่างผู้ให้บริการทางสังคม 4 มิติ 1.การเรียนรู้ 2.สังคม 3.อาชีพความเป็นอยู่ 4.สุขภาพ โดยร่วมกับผู้ปกครองและเด็ก มีผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ร่วมวางเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบางตามความเร่งด่วนและความซับซ้อนในการป้องกันคุ้มครองเด็ก มีเส้นทางเติมเต็ม 9 ขั้นตอน 1.เจ้าหน้าที่แจ้งเคสเข้าแพลตฟอร์มเติมเต็ม 2.พิจารณาอนุมัติ หรือปฏิเสธ แล้วแต่งตั้งผู้จัดการเคส 3.ผู้จัดการเคสลงทะเบียนข้อมูลเด็กและครอบครัว ตั้งทีมทำงาน ตั้งกลุ่มเติมเต็มในการสื่อสาร 4.ทีมเติมเต็ม ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเยี่ยมบ้านพูดคุยกับผู้ปกครอง 5.ทีมเติมเต็ม ทำแบบประเมินปัญหา 4 มิติสำหรับเด็กและครอบครัว 6.ทีมเติมเต็ม ระดมความคิดเห็น นักสังคม และฝ่ายพัฒน์เขต ลำดับความซับซ้อนเร่งด่วน ตั้งเป้าหมายแผนบริการและผู้รับผิดชอบ กำหนดเวลาไม่เกิน 1 ปี 7.ทีมเติมเต็มสื่อสารกับผู้ปกครองในการดำเนินงานตามแผน เพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม 8.เมื่อผู้ปกครองเห็นชอบ ทีมงานดำเนินการตามแผนและติดตามผล 9.ทีมเติมเต็มแสดงข้อมูลข่าวสาร Real Time ให้ผู้ปกครอง แกนนำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ


นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาวะเปราะบางของเด็กและเยาวชนมีหลากหลายมิติ มีความซับซ้อน การแก้ไขปัญหาไม่สามารถสำเร็จได้จากการทำงานเพียงบางประเด็น ขณะเดียวกันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและคุ้มครองเด็กจำนวนมาก อาทิ การศึกษา สุขภาพ สวัสดิการ ความรุนแรง ดังนั้น หลักการสำคัญในการทำงานคือการเชื่อมเป็นข่ายงานสังคมที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง มีชุมชน ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม ซึ่งรู้จักเด็กในชุมชนได้ดีกว่าหน่วยงานภายนอกและช่วยเหลือเด็กในภาวะเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ร่วมสนับสนุน เน้นการป้องกันก่อนเกิดปัญหา ไม่ใช่รอให้ปัญหาปะทุก่อน โดยมีหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ เช่น กทม. หน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หน่วยงานด้านการศึกษา หนุนเสริมและสนับสนุนทรัพยากร ขณะนี้ดำเนินการนำร่อง 13 ชุมชน ในเขตคลองเตย ทุ่งครุ และบางกอกน้อย ซึ่งจะมีการถอดบทเรียน เพื่อขยายผลการดำเนินงานต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น