xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเอดส์พ้อ "ยาต้านไวรัสเอชไอวี" ขาด จ่อถก ผอ.อภ.คนใหม่ คลี่ปัญหาค้างจ่ายยาให้ รพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครือข่ายเอชไอวีร้อง สปสช. สถานการณ์ยาต้านไวรัสเอชไอวีขาด กระทบผู้ป่วยได้รับยาน้อยและสั้นลง จาก 3-6 เดือน เหลือ 1 เดือน ยาบางตัวได้เพียง 3-10 วัน ต้องมา รพ.บ่อย เผยหารือ อภ.แล้ว พบผลิตเองได้ แต่ยังติดปัญหาจัดหาวัตถุดิบ ทำป้อนยาเข้าระบบไม่เป็นไปตามแผน แถมค้างจ่ายยาให้ รพ. เล็งหารือ ผอ.อภ.คนใหม่ 24 ก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย นำตัวแทนเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนสถานการณ์ยาต้านไวรัสเอชไอวีขาด และข้อเสนอแนวทางแก้ไข มีนางยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช.รับเรื่อง โดย นายอภิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์ยาต้านไวรัสเอชไอวีขาดเป็นปัญหาสะสมมานาน ส่งผลกระทบต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่รักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ได้รับยาไม่เต็มจำนวนตามที่แพทย์สั่ง เช่น ปกติได้รับยา 3-6 เดือน กลับได้เพียง 1 เดือน ยาบางชนิด เช่น DTG ผู้ติดเชื้อฯ ได้รับยาเพียง 3 – 10 วันเท่านั้น ทำให้ผู้ติดเชื้อต้องเดินทางมารับยาบ่อยขึ้น ต้องลางาน ขาดรายได้ มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น เมื่อไม่มียาเพียงพอ ผู้ติดเชื้อที่สมควรได้รับการปรับเปลี่ยนสูตรยาตามแนวทางการรักษาของประเทศ ส่วนหนึ่งไม่ได้รับการปรับเปลี่ยน หรือปรับไปเป็นสูตรที่ไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษา ในระยะยาวอาจทำให้ผู้ติดเชื้อขาดยาหรือกินยาไม่ต่อเนื่อง มีโอกาสดื้อยาได้ ผู้ให้บริการของ รพ.ก็ได้รับผลกระทบ มีภาระงานที่ต้องจัดการเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารจัดการยาให้ผู้ติดเชื้อไม่ขาดยา เพิ่มงานที่ต้องนัดหมายผู้ติดเชื้อฯ มารับบริการถี่ขึ้นอีก

“โจทย์ใหญ่คือ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะเป็นเจ้าใหญ่ดูแลความมั่นคงของยาต้านไวรัสผ่านระบบสามกองทุน ซึ่งการจัดหายาขณะนี้ไม่แน่ใจว่ามีความมั่นคงในการจัดหายาหรือไม่ อภ.ควรต้องออกมาพูดว่า ปัญหาการจัดยา จนทำให้ไม่เพียงพอเป็นเพราะอะไร และการจัดหายา ทั้งประกันสังคม สปสช. หรือสิทธิข้าราชการก็มีความพยายามจัดหา แต่ก็ต้องดูว่า จะทำอย่างไรไม่ให้สะดุด ปัญหาตอนนี้คือ มีเงินก็จัดหายาไม่ได้ เพราะ อภ.ยังค้างจ่ายยาให้กับ รพ.กรณีที่เบิกไป เช่น เบิกยาต้านไวรัส 100 ขวด แต่ อภ.จัดหาให้ 50 ขวดและค้างจ่ายส่วนหนึ่ง ตรงนี้ก็ต้องมาพิจารณาว่า อภ.ทำหน้าที่จัดหายาได้หรือไม่” นายอภิวัฒน์ กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่าจริงๆก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปัญหา ได้มีการหารือร่วมกับ อภ.หรือไม่ นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า เคยเข้าหารือกับ อภ.มาก่อนหน้านี้แล้ว ก็ให้เหตุผลว่าติดปัญหาต่างๆ เช่น การหาวัตถุดิบ ฯลฯ ปัญหาสะสมมาประมาณ 1 ปี แต่ช่วงนี้หนักมาก ล่าสุด เครือข่ายฯ เตรียมเข้าหารือร่วมกับทาง ผอ.อภ.ท่านใหม่ ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ เพื่อขอทราบเหตุผลถึงปัญหาการจัดหายา และแนวทางแก้ไขทั้งระยะสั้น ระยะยาว รวมทั้งมีแผนไปพบสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน

“จริงๆ ยาต้านไวรัสฯ หรือยาหลายรายการ อภ.ผลิตเอง จัดหาเอง ตั้งแต่หาวัตถุดิบ สายการผลิตต่างๆ ซึ่ง อภ.ก็พยายามทำอยู่ แต่เป้าหมายบทบาทของ อภ. คือ การจัดหายาเข้าสู่ระบบ กลับไม่เป็นไปตามแผน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญจะต้องหาทางออก เพราะผู้ติดเชื้อในไทยมีประมาณ 4 แสนกว่าราย หากยาไม่พอ ขาดยาย่อมส่งผลกระทบ” นายอภิวัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบันมี รพ.กี่แห่งที่ไม่มียาต้านไวรัส หรือมีปัญหาการเบิกจ่ายยาให้ผู้ป่วย นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า หลายแห่งมาก เพราะยาไม่มีจึงไม่สามารถให้ยาผู้ป่วยได้ ยาไม่พอในระบบ ผู้ป่วยบางคนได้ 3-5 เม็ด บางคนไม่ได้สักเม็ดต้องหาซื้อเอง ปัญหาตรงนี้เพราะ รพ.ไม่มียาให้ แม้จะคีย์ข้อมูลทำเบิกยาแล้วก็ตาม แต่ยาไม่มาตามนัด โดย รพ.เอกชนมีหลายแห่งใน กทม. ส่วนรพ.รัฐส่วนใหญ่จะทำเบิก 3-5 วัน ซึ่งมักเป็นสิทธิบัตรทอง


กำลังโหลดความคิดเห็น