สธ.เร่งติวแพทย์ พยาบาล บุคลากร อัปเดตการวินิจฉัย รักษา และป้องกัน "ไข้เลือดออก" หลังระบาดวิทยาเปลี่ยน "ผู้ใหญ่-สูงอายุ" ป่วยตายมากขึ้น ย้ำไม่ได้ป่วยเฉพาะเด็ก ห่วงวินิจฉัยแยกโรคยาก อาการเบื้องต้นเหมือนโรคอื่น เผยตั้งแต่ปี 66 ป่วยแล้ว 2.7 หมื่นคน ดับ 33 คน แนะมีไข้อย่าซื้อยากลุ่มที่ทำให้เลือดออก ส่อทำเสียชีวิต การใช้ "วัคซีนไข้เลือดออก" วงกว้าง ยังต้องติดตามข้อมูลรอบด้านก่อนตัดสินใจ
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ รพ.ราชวิถี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “Dengue Effective for Treatment and Prevention” การดูแลรักษาและป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ ว่า ตามการคาดการณ์และพยากรณ์โรคพบว่า ก.ค.-ส.ค.น่าจะเป็นจุดสูงสุดของไข้เลือดออก เพราะจะระบาดช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะช่วงที่ตกบ้างหยุดบ้าง ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้มีผู้ป่วยมากขึ้น อีกปัจจัยคือบ้านเราไม่มีการระบาดของไข้เลือดออก โดยเฉพาะช่วงโควิดมา 2-3 ปีแล้ว เนื่องจากคนไม่ค่อยมีการเดินทาง การระบาดของโรคจึงไม่รวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้คนมีภูมิต้านทานต่อโรคไข้เลือดออกลดน้อยลง ทำให้ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีการระบาดมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา และจากสถิติตัวเลขเมื่อต้น ก.ค.อยู่ที่ 2.7 หมื่นคน แต่ดูทั้งหมดแล้วอาจถึง 3 หมื่นกว่าคน ผู้เสียชีวิตก็ 20 กว่าราย มาตรการป้องกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
"ไข้เลือดออกเดงกี มียุงลายเป็นพาหะซึ่งยุงอยู่กับบ้าน บ้านใดมีที่สำหรับยุงวางไข่ มีภาชนะน้ำขังที่เราลืม ยุงลายจะมาวางไข่ ถ้ายุงลายมีเชื้อก็จะมีการระบาดของโรค มาตรการป้องกันสำคัญคือประชาชนต้องสำรวจบ้านตนเองมีภาชนะน้ำขังที่ไม่ได้ดูหรือไม่ ให้เปลี่ยนถ่ายน้ำ อะไรไม่ใช้ก็เอาไปทิ้งตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลายด้วย" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับการประชุมวันนี้ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยร่วมกันจัดขึ้น เป็นการประชุมวิชาการมีประเด็นเรื่องการดูแลวินิจฉัย รักษา และการป้องกันโรค โดยเฉพาะการวินิจฉัยและรักษาให้เร็วขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากระบาดวิทยาเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมผู้ใหญ่ไม่ค่อยเป็นไข้เลือดออก ระยะหลังเริ่มพบผู้ใหญ่รวมถึงผู้สูงอายุเป็นโรคไข้เลือดออกมากขึ้น การวินิจฉัยในผู้ใหญ่จะสลับซับซ้อนแตกต่างจากเด็ก ความชำนาญของแพทย์ เพราะคิดว่าเป็นโรคในเด็ก ทำให้หมอเด็กจะระมัดระวัง ก็ต้องย้ำเตือนว่าผู้ใหญ่ก็เป็นได้ อีกทั้งการวินิจฉัยโรคนั้น ช่วงหน้าฝนมีโรคติดต่อหลายอย่างมาพร้อมกัน ทั้งไข้หวัดใหญ่ โควิด ฉี่หนู ไข้เลือดออก อาการเริ่มต้นคล้ายกัน คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ระยะแรกการวินิจฉัยจะแยกโรคไม่ได้ ไม่ว่าใช้เครื่องมือใดๆ ก็ตาม การติดตามผู้ป่วยเป็นระยะจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัย
"นอกจากนี้ ระยะหลังพบว่าไข้เลือดออกในผู้ใหญ่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง ย้ำว่าคนมีอาการไข้ ไม่จำเป็นอย่างรับประทานยาที่ทำให้เลือดออกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยาแอสไพรินหรือกลุ่มยาเอ็นเสด ขอให้งดเว้น เพราะหากกินแล้วเกิดเป็นไข้เลือดออกก็จะทำให้เลือดออกง่าย และเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เสียชีวิต ผู้ใหญ่ต้องระมัดระวังให้ดี จากประเด็นเหล่านี้จึงเป็นโอกาสดีที่จัดการประชุมวิชาการถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆ แก่แพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องได้ทราบเกี่ยวกับการดูแลรักษาไข้เลือดออกทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก ทำให้มาตรการดูแลรักษาดีขึ้น หวังว่าจะช่วยลดการเสียชีวิตทั้งผู้ใหญ่และเด็กลงได้ รวมถึงอัปเดตเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งการวินิจฉัยและวัคซีน" นพ.โอภาสกล่าว
ถามถึงการนำวัคซีนไข้เลือดออกมาใช้ป้องกันโรค นพ.โอภาสกล่าวว่า การใช้วัคซีนแต่ละโรคแต่ละชนิดแตกต่างกัน ซึ่งเดงกีมี 4 สายพันธุ์ การผลิตวัคซีนต้องครบถ้วนทั้ง 4 สายพันธุ์ และการใช้วัคซีนก็มีความสลับซับซ้อนแตกต่างจากโรคติดเชื้ออื่นๆ เนื่องจากธรรมชาติการเกิดโรคไข้เลือดนั้นการติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรง จะรุนแรงต่อเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองต่างสายพันธุ์ แม้จะมีวัคซีนไข้เลือดออกขึ้นทะเบียนในไทยแล้ว แต่การฉีดเป็นวงกว้าง การกำหนดว่ากลุ่มไหนควรฉีด ฉีดเมื่อไรอย่างไรจึงมีความสำคัญมาก เช่น เคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ความเสี่ยงการเกิดโรคมากน้อยแค่ไหน และระยะเวลาการฉีดเป็นอย่างไร เป็นต้น จึงต้องอาศัยข้อมูลทางระบาดวิทยามาคำนวณและข้อมูลทางวิชาการมาประกอบการตัดสินใจอย่างรอบคอบครบถ้วน
"เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ที่มีการเอาวัคซีนไข้เลือดออกในเชิงพาณิชย์มาใช้ ก็มีการเรียกร้องให้ สธ.เอาวัคซีนมาใช้ในวงกว้าง เราดูข้อมูลแล้วว่าวัคซีนไข้เลือดออกสลับซับซ้อนกว่าวัคซีนโรคติดเชื้ออื่นๆ เราก็พิจารณาแล้วว่ายังไม่ควรจะรีบเอาวัคซีนมาใช้ ซึ่งก็มีประเทศหนึ่งแถบอาเซียนเอามาใช้ในเด็กหลายล้านคน แทนที่จะทำให้การติดเชื้อและเสียชีวิตลดน้อยลง กลับมาทำให้การติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้น ก็เป็นบทเรียนที่เราต้องพิจารณาอย่างครบถ้วน ซึ่งเรามีทีมวิชาการ คณาจารย์ต่างๆ โรงเรียนแพทย์กำลังศึกษาการนำวัคซีนมาใช้ในวงกว้าง คงต้องรอข้อมูลอีกสักระยะหนึ่งที่จะพิจารณาการตัดสินใจ ถ้าเป็นการขอฉีดรายบุคคล ก็ขอให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแล เพราะขึ้นกับความพร้อมและความเหมาะสมของแต่ละคน แต่ย้ำว่าถ้าจะจัดฉีดระดับประเทศต้องพิจารณาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบคอบ เรามีคณะทำงานติดตามข้อมูลอยู่" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์มีสถานพยาบาลเฉพาะทางดูแลผู้ป่วยที่ซับซ้อน เช่น รพ.ราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นต้น และมีภารกิจฝึกอบรมพัฒนาความรู้และทักษะด้านการแพทย์ให้กับบุคลากรทั่วประเทศ ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย สมาคมวิชาชีพ ราชวิทยาลัยต่างๆ พัฒนาคู่มือแนวทางการตรวจวินิจฉัยดูแลรักษาโรคไข้เลือดออกทั้งในเด็กและผู้ใหญ่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และจัดกิจกรรมอบรมฟื้นฟูความรู้ด้านการดูแลรักษาโรคไข้เลือดออก ภาวะแทรกซ้อน และความรู้ด้านวัคซีนใหม่ๆ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพบุคลากรการแพทย์ในการรองรับการดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออกซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในขณะนี้
ด้าน นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 28 มิ.ย. 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 27,377 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 33 ราย โดยตั้งแต่ มิ.ย.พบผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1,500 - 2,400 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1-3 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี ตามด้วยกลุ่มอายุ 15-24 ปี ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้เพิ่มกลยุทธ์เพื่อควบคุมจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศ โดยเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ ในการป้องกันตนเอง การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์โรค ร่วมกับมาตรการการเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค การประเมินแนวโน้มพื้นที่การระบาดของโรคหรือความชุกชุมของแหล่งโรค เพื่อประกาศเป็นโรคระบาดเฉพาะพื้นที่และวางมาตรการตอบโต้ รวมทั้งเน้นการควบคุมโรคให้เหมาะกับบริบทพื้นที่โดยเฉพาะ