วันนี้ (8 ก.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจรเขตพระโขนง ว่า เขตพระโขนงเป็นเขตสำคัญ เป็นเขตรอยต่อระหว่างเมืองชั้นในกับเมืองชั้นนอก ขนาดประมาณ 13 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 80,000 คน ภาพรวมทำงานได้ค่อนข้างดี ในกรณีของ Traffy Fondue ที่เราดูการตอบสนองต่างๆ วันนี้ได้เน้นย้ำเรื่องการเก็บขยะ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นนโยบายซึ่งต้องเก็บให้ได้อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ในทุกชุมชน ปัจจุบันยังมี 7 จุดที่ยังเก็บ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจจะเป็นพวกคอนโดต่างๆ แล้วก็บางจุด ซึ่งมีขอชี้แจงว่าเป็นจุดที่มีขยะน้อย แต่ก็ได้แจ้งว่าต้องปรับให้ดีขึ้น ให้ปรับปรุงการดำเนินการโดยใช้พนักงานที่ทำงานนอกเวลา(โอที) อาจจะใช้วิธีคือให้พนักงานทำโอทีไปรวบรวมขยะมากองไว้ เมื่อรถเก็บมาก็สามารถใช้รถเก็บขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้เห็นผลภายใน 1 เดือน และต้องทำทั้งกรุงเทพมหานคร พยายามเน้นว่าให้ได้อย่างน้อย 2 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์
เรื่องถัดมาคือ พื้นที่ของพระโขนงมีถนนหลัก 2 เส้น คือ ถนนสุขุมวิท และถนนรถไฟสายเก่า รถไฟสายเก่าเป็นถนนที่มีรถบรรทุกวิ่งเยอะ วิ่งเข้าสู่ท่าเรือคลองเตย โรงกลั่นน้ำมัน และโรงปูนต่างๆ วันละกว่า4,000 คัน ซึ่งกรณีนี้ทำให้เกิดทั้งมลภาวะ เรื่องเสียง เรื่องสภาพถนนที่เสียหาย จึงให้แนวคิดว่าต้องมีการกำกับดูแลเรื่องทั้งการปล่อยมลพิษของรถเหล่านี้ให้เข้มงวดตั้งแต่ที่ต้นทาง รวมทั้งดูแลเรื่องน้ำหนักบรรทุกด้วย เพราะถนนรถไฟสายเก่ามีการเสียหายค่อนข้างเยอะ เจ้าหน้าที่เขตเจ้าหน้าที่สำนักโยธาไปซ่อมแซมทุกอาทิตย์ จริงๆ แล้วก็ได้ให้แนวนโยบายกับทางสำนักโยธาว่าให้ติดตั้งระบบชั่งน้ำหนักอัตโนมัติเลย หากพบรถที่น้ำหนักเกินทำความเสียหายให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด รวมทั้งเรามีแหล่งอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่ พวกโรงงาน โรงกลั่นน้ำมันต่างๆ ซึ่งอันนี้ก็เป็นข้อกังวลของประชาชนในแง่ที่ว่าจะอาจจะทำให้เกิดมลพิษ ก็ได้ให้สำนักสิ่งแวดล้อมไปเชื่อมโยงข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า ในกรณีที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการตรวจวัดมลพิษแบบเรียลไทม์ให้เชื่อมโยงข้อมูลมาที่กรุงเทพมหานครด้วย จะได้เห็นเลยว่าการปล่อยมลพิษต่างๆมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อความมั่นใจและทำให้ประชาชนมั่นใจขึ้นรวมถึงการตรวจแพลนท์ปูนต่างๆ ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง
อีกหนึ่งปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมาคือเรื่อง ถนนและฝาท่อต่างๆ ก็ได้ให้นโยบายว่าให้ปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยอาจจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ทางส่วนกลางก็พร้อมที่จะสนับสนุนเนื่องจากเขตนี้มีซอยย่อยต่างๆ อยู่กว่า 100 ซอย อีกเรื่อง คือหาบเร่แผงลอย อาจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ หาบเร่-แผงลอยที่อยู่ริมถนนใหญ่ เช่น ถนนสุขุมวิท อันนี้ต้องเด็ดขาด เพราะว่าเราไม่อนุญาตให้มีอยู่แล้วไม่ได้เป็นจุดผ่อนผัน และได้แจ้งผู้อำนวยการเขตและหัวหน้าฝ่ายเทศกิจว่า ริมถนนสุขุมวิท 101 , 95, 93 ขอให้เข้มงวดในการดูแลต้องให้เป็นทางเดินสัญจรของประชาชน ส่วนตลาดอีกประเภท 1 ซึ่งเป็นตลาดชุมชนที่เป็นวิถีชุมชนที่อยู่ข้างในซอยย่อยเข้าไป ที่คนในชุมชนเอาของมาขายเป็นช่วงเวลา อันนี้ก็ให้ดูรายละเอียดแต่ละพื้นที่ และให้เข้าไปจัดระเบียบให้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต แต่อย่างไรก็ต้องให้คนที่สัญจรสามารถเดินได้สะดวกด้วย คงจะมาอ้างเรื่องการทำมาหากินอย่างเดียวไม่ได้หรือว่าจะอ้างว่าอยู่มานานก็ไม่ได้เช่นกัน
ส่วนเรื่องน้ำท่วมมีจุดเสี่ยงอยู่ประมาณ 4-5 จุด ซึ่งได้ดำเนินการแล้วทุกจุด จุดเสี่ยงสำคัญที่สุด คือ สุขุมวิท 101/1 บริเวณอุโมงค์รับน้ำบึงหนองบอน ซึ่งขณะนี้ได้เปิดอุโมงค์รับน้ำช่วงจาก 101/1 ไปสู่คลองที่ระบายออกแม่เจ้าพระยาก็ทำให้จุดนี้ดีขึ้น อาจจะมีจุดที่ สุขุมวิท 64 ได้สำรวจแล้ว เตรียมจะทำถนนและท่อระบายน้ำใหม่ ในภาพรวมระบบน้ำในเขตพระโขนงดีขึ้นมาก น่าจะรับมือกับปัญหาน้ำท่วมได้ดีขึ้น
ภายหลังการประชุมผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับบุคลากรของสำนักงานเขตพระโขนง จำนวน 5 คน ประกอบด้วย 1. นายพิชิต พุทธประถม ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (ระบายน้ำ) บ2 ฝ่ายโยธา 2. นางสาวอรทัย สุดพวง ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ 3. นางสาวทองฟู ร่วมสอน ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ 4. นายสุวิทชัย ทัศนศร ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (เก็บขนมูลฝอย) ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ 5. นางสมควร ชากำนัน ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานสวนสาธารณะ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ
ซึ่งทั้ง 5 คนได้รับคัดเลือกให้เป็นบุคลากรเขตพระโขนงให้ร่วมโต๊ะอาหารกลางวันกับผู้ว่าฯ กทม.
ระหว่างมื้ออาหารผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้พูดคุยกับบุคลากรด้วยความเป็นกันเอง โดยสอบถามเรื่องชีวิตส่วนตัว เรื่องการเงิน รายได้ การทำงานและเรื่องทั่วไป อาทิ ที่พักอาศัย ชีวิตครอบครัวปัญหาจากการทำงาน นอกจากนี้ได้พูดคุยถึงความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่และพื้นที่ที่ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งให้กำลังใจในการทำงาน โดยเมนูอาหารวันนี้ ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวหมูตำลึง ข้าวเหนียว สัมตำ ไก่ย่าง ลาบหมู ก๋วยเตี๋ยวตำลึงร้านดังย่านตลิ่งชัน น้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ(มะตูม, อัญชัญ) ของหวานเป็นขนมครองแครงกะทิสด ขนมปังจากศูนย์ฝึกอาชีพวัดธรรมมงคล และผลไม้เพื่อสุขภาพ
หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนพึ่งตนเอง (5 ด้าน) ส่งเสริมสุขภาพ สร้างสุขทุกวัย และติดตามการบริหารจัดการถังดับเพลิงของชุมชนสุภาพงษ์ ตรวจเยี่ยมโรงเรียนสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนา สถาบันแห่งการเปิดโอกาสด้านการเรียนรู้ของกลุ่มเด็กเปราะบาง และเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ตรวจเยี่ยมชุมชนเกตุไพเราะ 3-5 ต้นแบบชุมชนปลอดขยะ Zero Waste ซึ่งได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมติดต่อกันหลายปีจากหลายหน่วยงาน สามารถเลี้ยงปลาในกระชัง และได้รับรางวัลสุดยอดตลาดต้นแบบของกรุงเทพมหานคร