xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริโภคร่อนหนังสือขนส่งฯ บังคับ จยย.ติดเบรก ABS ใน 1 ม.ค.67 ตามเดิม หลังผู้ผลิตเตะถ่วงขอเลื่อนอีก 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาผู้บริโภค ร่อนหนังสือถึงขนส่งทางบก ให้บังคับใช้ประกาศติดตั้งระบบเบรก ABS จยย.ทุกขนาดใน 1 ม.ค. 67 ตามเดิม หลังส.อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ชงขอเลื่อนไปอีก 2 ปี ห่วงเพิ่ม จยย.ไม่ได้มาตรฐานออกตลาด เสี่ยงอุบัติเหตุเจ็บตายมากขึ้น

จากกรณีกรมการขนส่งทางบกออกประกาศฯ กำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2564 บังคับติดตั้งระบบห้ามล้อที่มีระบบป้องกันการล็อกของล้อ (ระบบเบรก ABS) ในรถจักรยานยนต์ขนาดเกินกว่า 125 ซีซี และให้ติดตั้งระบบห้ามล้อร่วม (ระบบเบรก CBS) ในรถจักรยานยนต์ขนาดต่ำกว่า 125 ซีซี โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ในการประชุมหารือแนวทางการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวที่เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2566 สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยแจ้งว่า ขอเลื่อนการบังคับติดตั้งระบบห้ามล้อร่วม (CBS) ออกไปเป็นการบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2569 อ้างว่าอยู่ระหว่างการพัฒนาและวิจัยสำหรับการออกแบบระบบห้ามล้อให้เป็นไปตามข้อกำหนด แต่สภาผู้บริโภคเห็นว่า ไม่ควรมีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก เนื่องจากจะทำให้ผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องอยู่กับความเสี่ยงของรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่ายต่อไปอีก 2 ปีกว่า

"การไม่ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค จากมาตรฐานรถจักรยานยนต์ที่ไม่ปลอดภัย และจะทำให้ตัวเลขอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อแผนแม่บทด้านความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ ของกระทรวงคมนาคม ที่กำหนดเป้าหมายลดอัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากร ในปี 2570" นายคงศักดิ์กล่าว

นายคงศักดิ์ กล่าวว่า สภาผู้บริโภค จึงมีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก ขอให้เร่งบังคับใช้ประกาศตามกำหนดเดิมและให้มีมาตรการสนับสนุนการติดตั้งระบบเบรก ABS สำหรับรถจักรยานยนต์ใหม่ทุกคันที่เข้าสู่ตลาด โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้ 1. กำกับติดตามให้ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ ติดตั้งระบบเบรก ABS ตามกรอบเวลาเดิมที่ประกาศฯ กำหนด 2.กำหนดให้รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ซีซี ต้องติดตั้งระบบเบรก ABS เช่นเดียวกับขนาดเกิน 125 ซีซี 3.ออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ เพื่อติดตั้งระบบเบรก ABS เช่น ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และอุดหนุนด้านการเงิน และ 4.เร่งกำหนดหลักสูตรการพัฒนาทักษะของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อให้การขับขี่มีมาตรฐาน คุณภาพและความปลอดภัย

“ระบบเบรก ABS จำเป็นต้องถูกติดตั้งจากต้นทางการผลิต ไม่สามารถติดตั้งเพิ่มภายหลังได้ จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องกำกับดูแลให้รถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยทุกรุ่นติดตั้งระบบเบรก ABS ควบคู่กับการพัฒนาทักษะผู้ขับขี่ เพื่อมีมาตรฐานรถจักรยานยนต์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัย จะช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางถนน ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต” นายคงศักดิ์ ระบุ

นายคงศักดิ์กล่าวว่า ระบบเบรก ABS ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถปกป้องชีวิตผู้ขับขี่ได้ คณะทำงานที่ 29 ว่าด้วยการประสานข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ ได้กำหนดให้ระบบเบรก ABS เป็น 1 ใน 8 มาตรการหลักที่ยานพาหนะทั้งหมดควรมี อีกทั้งกฎเรื่องยานพาหนะขององค์การสหประชาชาติ แนะนำให้ใช้ข้อกำหนดที่มีอยู่ในเรื่องระบบเบรก ABS กับยานพาหนะทั้งหมดด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น