xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปัญหา 6 ด้าน ถ่ายโอน รพ.สต. หลัง HSIU ประชุมนัดแรก เร่งทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวรส.ตั้งคณะทำงาน HSIU ประชุมนัดแรก ลุยวิเคราะห์ 6 ด้านปัญหาการถ่ายโอน รพ.สต.ไป อบจ. ทั้งการอภิบาลระบบ กำลังคน การเงิน บริการ ยา และข้อมูล หวังทำข้อเสนอเชิงนโยบายช่วยแก้ปัญหาระบบสุขภาพจากงานวิจัย

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และประธานคณะทำงาน Health System Intelligent Unit (HSIU) กล่าวว่า คณะทำงาน HSIU เป็นการทำงานร่วมกันของผู้แทน อปท. ภาคสาธารณสุข และเครือข่ายนักวิชาการ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. กำหนดเป้าหมาย ทิศทางการดำเนินงาน วางกลยุทธ์การผลิตชุดความรู้ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ของระบบและนโยบายสุขภาพ เพื่อร้อยเรียงข้อมูลวิชาการกับความต้องการเชิงนโยบายให้กลายเป็นการปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดการประชุมคณะทำงาน HSIU นัดแรก มีการนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยที่ สวรส. มีส่วนสนับสนุนทั้งหมด 6 เรื่อง และร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การถ่ายโอน รพ.สต. และความคิดเห็น เพื่อร่วมกันวางแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป


"การประชุมครั้งนี้เพื่อประมวลสถานการณ์กรณีถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ร่วมกันหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งภารกิจและสถานบริการที่ได้รับถ่ายโอน สามารถให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สะดุดด้วย การตั้งคณะทำงาน HSIU เป็นอีกกลไกที่จะช่วยสนับสนุนให้การทำงานด้านวิชาการสามารถตอบโจทย์ในหลายเรื่องที่ยังไม่มีข้อยุติ เชื่อว่าผู้บริหารหลายหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอน เช่น อบจ. สธ. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ต้องการคำตอบทางวิชาการเพื่อนำไปพิจารณาปรับแก้ในจุดที่ยังเป็นข้อบกพร่องให้สมบูรณ์มากที่สุด" นพ.ศุภกิจกล่าว

ดร.สมธนึก โชติช่วงฉัตรชัย เครือข่ายนักวิจัย สวรส. จาก IHPP กล่าวว่า หลังถ่ายโอนยังมีปัญหาเรื่องการเกลี่ยกำลังคนในการกำกับติดตามดูแล ยังไม่มีความชัดเจน แม้จะมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) จากการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ผ่านกรอบการพัฒนาระบบสุขภาพ (Six Building Blocks) 6 ด้าน พบว่า 1. ด้านอภิบาลระบบ ยังคงมีปัญหา เช่นในส่วนของกฎระเบียบทั้งในด้านของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งยังมีข้อถกเถียงในเรื่องระเบียบเงินบำรุงที่อาจต้องปรับการดำเนินงานให้สะดวกมากยิ่งขึ้น 2. ด้านกำลังคน ยังมีความขาดแคลนกำลังคน ซึ่งเป็นสถานการณ์ตั้งแต่ก่อนถ่ายโอนฯ และประกอบกับการไม่สมัครใจถ่ายโอนฯ รวมถึงบางพื้นที่มีบางตำแหน่งต้องไปช่วยราชการ ทำให้กำลังคนน้อยกว่าที่ควรมีในระบบ คนที่มีต้องทำหน้าที่อื่นแทน


3.ด้านการเงินการคลัง แม้ สปสช. มีมติให้หน่วยบริการคู่สัญญาที่ให้บริการปฐมภูมิ (CUP) และ รพ.สต. ตกลงร่วมกันในการจัดสรรงบประมาณ แต่บางจังหวัดเห็นว่าควรมีแนวทางกลางมากกว่าให้พื้นที่ตกลงกันเอง 4. ด้านบริการ จำเป็นต้องมีการกำกับติดตามที่เหมาะสม เช่นในเรื่องบริการการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ที่เป็นบทบาทของ รพ.สต. ที่ผ่านกลไกการเบิกจ่ายของ สปสช. 5. ด้านยา เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อในรูปแบบใดก็ตาม ทุกฝ่ายคาดหวังให้ยามีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน และทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และ 6.ด้านข้อมูล กระทรวงมหาดไทยมีการหารือว่าจะนำข้อมูลใน Thai ID มาเชื่อมโยงข้อมูลเมื่อประชาชนใช้บริการที่ รพ.สต. เพื่อให้ทุกหน่วยงานมีฐานข้อมูลส่วนกลางร่วมกัน


ศ.วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ถ่ายโอน รพ.สต. ต้องยอมรับตรงกันว่าเป็นกระบวนการที่ยังไม่มีทางออก และความแตกต่างของพื้นที่เป็นปัจจัยที่ทุกคนยอมรับ ทั้งในแง่พื้นที่หรือหน่วยงานที่ถูกถ่ายโอนไป ฉะนั้นเมื่อกระบวนการเป็นแบบนี้ต้องเข้าใจว่าชุดองค์ความรู้ที่งานวิจัยสร้างและนำเข้าไปเพื่อให้การถ่ายโอน ประสบความสำเร็จ ต้องทำให้ชัดเจนว่าภาพปลายทางที่อยากเห็นคืออะไร และจะทำให้เรื่องนี้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งมองว่าท้ายที่สุดในเรื่องการประเมินผลเชิงพัฒนา และการประเมินผลสรุป ของการถ่ายโอนคือห่วงโซ่ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง แต่ละพื้นที่อาจต้องมีเป้าหมายว่า 3 ปีข้างหน้าจะทำอะไรให้ดีกว่าเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น