xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์เผยผลตรวจ "สัตว์น้ำ-อาหารทะเล" สารปรอทไม่เกินค่า ยันกินได้ ปลอดภัย หลังโซเชียลตื่น 8 จว.ปลามีปรอทเกิน 24 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์ฯ เผยผลตรวจ "สารปรอท" ในปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเล ปี 63-66 ไม่เกินค่ามาตรฐาน ปลอดภัยกินได้ หลังมีกระแสข่าว 8 จังหวัดพบปรอทในปลาสูง 24 เท่า ส่วนค่าการรับสารพิษเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ น้อยกว่าที่กำหนด 4 พันเท่า

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย “เชยแล้ว กินปลาแล้วฉลาด สมัยนี้ กินปลาแถมปรอท” เพราะพบการสะสมปรอทในปลาทะเลและปลาน้ำจืดใน 8 จังหวัด คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา เลย ขอนแก่น และจันทบุรี พบปนเปื้อนปรอทเกิน 24 เท่าจากมาตรฐาน จนอาจนำมาสู่มินามาตะโมเดลในไทย ว่า ข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคมีความวิตก กรมฯ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ในฐานะห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประเทศและอาเซียน ด้านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้รวบรวมข้อมูลผลตรวจวิเคราะห์ปรอททั้งหมดในปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเล ตั้งแต่ปี 2563 - 2566 จำนวน 108 ตัวอย่าง พบว่า


ปริมาณการปนเปื้อน อยู่ระหว่าง 0.001 - 0.840 มก./กก. ไม่เกินค่าปนเปื้อนสูงสุดทุกตัวอย่าง มีค่าเฉลี่ยและค่ามัธยฐาน 0.0025 มก./กก. และ 0.0010 มก./กก. สำหรับปริมาณการได้รับสัมผัสจากปริมาณอาหารที่บริโภคของประชากรไทยอายุ 3 - 5.9 ปี เฉลี่ยเท่ากับ 0.0004 µg/kg bw/week เทียบกับค่าอ้างอิงปริมาณความเป็นพิษของสารปรอทต่อระบบประสาทในเด็กที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ระบุค่าความปลอดภัย (PTWI) เท่ากับ 1.6 µg/kg bw/week จะเห็นว่าปริมาณการได้รับสัมผัสยังต่ำกว่าค่าความปลอดภัยมาก หรือน้อยกว่า 4,000 เท่า แสดงว่าการบริโภคปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเลของเด็กไทยและคนไทยยังคงมีความปลอดภัย ประชาชนสามารถบริโภคได้

"ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้มีปริมาณสารปรอทได้ไม่เกิน 0.5 - 1.7 มก./กก. ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาและชนิดของอาหาร อย่างไรก็ตาม การปรุงอาหารก็ไม่สามารถลดการปนเปื้อนได้ ดังนั้น ควรเลือกบริโภคปลากินพืช เช่น ปลาสลิด ปลานิล ปลาจีน เป็นต้น และบริโภคปลาผู้ล่าที่มีชีวิตยืนยาวกว่าชนิดอื่น ซึ่งอยู่ระดับบนของห่วงโซ่อาหาร เช่น ปลาดาบ ปลาทูน่า เป็นต้น แต่พอเหมาะหรือน้อยลง เพื่อลดโอกาสสัมผัสการปนเปื้อนปรอทหรือโลหะหนัก" นพ.ศุภกิจกล่าว


นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดบางชนิด ถือว่ามีความเสี่ยง และไม่ปลอดภัย เพราะเสี่ยงเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับได้ และควรเลือกซื้อปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเลจากตลาดสดหรือสถานที่จำหน่ายที่เชื่อถือได้มีมาตรฐาน สะอาด สด ใหม่ หากไม่นำมาปรุงกินทันที ควรล้างทำความสะอาดแยกเก็บใส่ตู้เย็น ก่อนปรุงต้องล้างน้ำอีกครั้ง ปรุงสุกด้วยความร้อน

สำหรับสารปรอทมักพบปนเปื้อนอยู่ในอากาศ น้ำและดิน เป็นส่วนใหญ่ สาเหตุมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาขยะ ขยะผลิตภัณฑ์ตามบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงพบได้ในเครื่องสำอางและอาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล สารปรอทแบ่งออกเป็นหลายรูปฟอร์ม ได้แก่ โลหะปรอท สารประกอบปรอทอนินทรีย์ และสารประกอบปรอทอินทรีย์ โดยปกติสารปรอทเมื่อสะสมอยู่ในปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ จะอยู่ในรูปสารประกอบปรอทอินทรีย์ ที่มีความเป็นพิษสูงกว่ารูปฟอร์มอื่น พบในสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ดังนั้น เมื่อรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการสะสมในร่างกายอาจก่อผลเสียต่อระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ปอด ไต และอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ทารกและเด็กเล็ก














กำลังโหลดความคิดเห็น