xs
xsm
sm
md
lg

อภ.เซ็นร่วมมือรับถ่ายทอดผลิต "วัคซีนไข้หวัดใหญ่" แบบเซลล์เพาะเลี้ยงจาก "เกาหลีใต้" คาดปีหน้าทำแบบแบ่งบรรจุได้ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อภ.ลงนามร่วม SK Scienece บริษัทผลิตวัคซีนเกาหลีใต้ รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แบบเชื้อตายจากเซลล์เพาะเลี้ยง ผลิตไวกว่าแบบไข่ไก่ฟัก คาดปีหน้าทำได้แบบแบ่งบรรจุก่อน และภายใน 2 ปีการผลิตจะสำเร็จตั้งแต่ต้นทาง

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ นายอัน แจ ยอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท SK Bioscience จำกัด สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีนายจอนโจยอง อุปทูต สถานเอกอัครราชทูต สธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เป็นสักขีพยาน


นพ.โอภาสกล่าวว่า ไทยร่วมพิธีแสดงสัตยาบันกับสถานบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 เพื่อระดมความร่วมมือนานาชาติในการสรางอนาคตของวัคซีนเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัคซีนนั้น ส่งผลให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บุคลากรทางด้านวัคซีนต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที บันทึกความเข้าใจนี้เปรียบเสมือนการปูทางไปสู่การแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญของทั้งสองประเทศ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของทั้งสองประเทศให้มีความมั่นคง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เข้าถึงวัคซีนที่สำคัญต่อสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น


พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า โรงงานผลิตวัคซีนของ อภ. ได้วิจัยพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กรณีที่มีการระบาดและตามฤดูกาล จนประสบความสำเร็จ และจากวิกฤตการณ์โควิด 19 อภ.ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อสร้างศักยภาพและเตรียมความพร้อมโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ โดยเริ่มวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตจากไข่ไก่ และยังได้เริ่มพัฒนาวัคซีนที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งการลงนามในครั้งนี้เพื่อสร้างความร่วมมือกับ SK Bioscience ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดเชื้อตายจากเซลล์เพาะเลี้ยง ชนิด 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ ในรูปแบบของวัคซีนพร้อมบรรจุ (Ready to Fill Bulk) และถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการบรรจุเพื่อการผลิตวัคซีนสำเร็จรูป (Drug Product) โดย อภ. เพื่อให้มีการใช้สถานที่และระบบสนับสนุน ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งสร้างองค์ความรู้และความชำนาญให้กับบุคลากรด้วย โดย SK Scienece จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิตและองค์ความรู้ต่างๆ ให้ อภ. เพื่อสร้างมาตรฐานในระดับสากล ศึกษาโอกาสที่จะตั้งโรงงานผลิตตัวยาสำคัญในประเทศไทย


นายอัน แจ ยอง กล่าวว่า สาเหตุที่เลือก อภ.มาร่วมมือด้วย เพราะไทยและ อภ.มีความพร้อม ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เชื่อว่าความร่วมมือจะเกิดได้ด้วยดี ซึ่งในอดีตเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทยมาหลายช่องทาง และวัคซีนเป็นหนึ่งในรายการที่มีการร่วมมือกันก่อนหน้านี้มานาน การร่วมมือในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสถานที่การผลิตของ อภ.ก็ถือเป็นจุดศูนย์กลางในภูมิภาค

ถามว่าจะต้องใช้เวลาในการถ่ายทอดเทคโนโลยีนานแค่ไหนและจะได้เริ่มใช้เมื่อไร พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า หลังจากลงนามจะมีการตกลงกันเรื่องความร่วมมือในเชิงของราคา โดยตกลงกันเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ปีหน้าน่าจะได้ตัววัคซีนในรูปแบบของวัคซีนพร้อมบรรจุหรือแบบแบ่งบรรจุ ซึ่งเป็นลักษณะของกลางน้ำ จากนั้นจะเข้าสู่เฟส 2 ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเลย คาดว่าไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ วัคซีนที่อยู่ในไปป์ไลน์ของ อภ. มีทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด GPO Vac การลงนามครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวใหญ่ เพราะเกาหลีใต้มีเรื่องการผลิตวัคซีนอื่นๆ อีกหลายตัว ที่มองไว้ว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีกัน เช่น วัคซีนป้องกันงูสวัด

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงจะทำให้กระบวนการผลิตวัคซีนมีความรวดเร็วกว่าการใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก


กำลังโหลดความคิดเห็น