xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยโควิดลดลงทรงระฆังคว่ำ จับตาต่ออีก 3 ช่วง ไม่น่ากังวล เปิดไกด์ไลน์ใหม่ ปรับตรวจหาเชื้อผู้ป่วยทางเดินหายใจ สวมมาสก์ทุกคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยยอดป่วย "โควิด" สัปดาห์ล่าสุด พบ 859 ราย เฉลี่ยวันละ 122 ราย ตาย 43 ราย อัตราป่วยเริ่มลดลง ทรงระฆังคว่ำ เข้าสู่ขาลง จับตาอีกช่วงปิดเทอม ปีใหม่ หน้าหนาว แต่ไม่น่ากังวล ยังติดตามอาการลองโควิด ย้ำวัคซีนสำคัญกลุ่ม 608 อย่ากลัวที่จะมาฉีด เผยไกด์ไลน์ดูแลผู้ป่วยโควิดฉบับใหม่ ำตรวจหาเชื้อโควิดเมื่อมีผู้ป่วยทางเดินหายใจ สวมหน้ากากอนามัยทั้งผู้ป่วย ผู้ติดตาม บุคลากร

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โควิด 19 ว่า ขณะนี้อัตราการป่วยเริ่มลดลง กราฟของการป่วยติดเชื้ออยู่ในลักษณะระฆังคว่ำ เข้าสู่ขาลง แต่จะต้องดูสถานการณ์อีกครั้งในช่วงปิดเทอม ปีใหม่ และช่วงหน้าหนาว แต่ยังไม่มีอะไรที่น่ากังวล  

ถามถึงกรณีหายป่วยจากโควิด พบมีอาการหลงเหลือ โดยเฉพาะไอเรื้อรัง ถือเป็นลองโควิดใช่หรือไม่  นพ.โอภาส กล่าวว่า  คำว่า ลองโควิด เป็นคำที่ไม่เป็นทางการ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ไม่ได้พูดถึงคำว่าลองโควิด ส่วนเรื่องอาการที่เกิดขึ้นนั้น เวลาที่เราติดเชื้อโควิด 19 ก็มีอาการหลายแบบ บางครั้งก็เกิดอาการตามหลังได้ เท่าที่ตามดูข้อมูลจาก รพ.ต่างๆ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องลองโควิดมาก มีบางส่วนที่รู้สึกไม่สบายตัว แต่ไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง สุดท้ายอาการต่างๆ ก็จะหายไป

“กรมการแพทย์ยังเฝ้าระวังเรื่องนี้อยู่ใกล้ชิด เบื้องต้นคิดว่าไม่มีปัญหาจนน่าวิตกกังวล ส่วนอาการไอเรื้อรัง ก็เกิดขึ้นได้ เพราะเชื้อไวรัสทางเดินหายใจหลายตัว เมื่อหายติดเชื้อ ก็จะกระตุ้นให้หลอดลมตีบ คล้ายเป็นหอบหืด ซึ่งจะเป็นอีกระยะหนึ่ง อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ถ้าเกิดมีปัญหา ก็ควรไปปรึกษาแพทย์” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ปัจจุบันยังมีการฉีดอยู่ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ซึ่งกำลังปรับกระบวนการฉีดวัคซีนเชิงรุกให้มากขึ้น เพราะคนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่ม 608 เมื่อติดเชื้ออาการจะไม่รุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่คนยังกังวลว่า วัคซีนฉีดเยอะจะไม่ดี ก็ต้องทำความเข้าใจว่า การฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุจะเกิดประโยชน์มากกว่า ที่กังวลมักจะเป็นญาติ ก็ต้องทำความเข้าใจกัน   

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กรมควบคุมโรคได้เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด 19 ภายในประเทศไทยรายสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. – 1 ก ค. 2566 มีผู้ป่วย 859 คน เฉลี่ย 122 คนต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 255 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 166 คน ผู้เสียชีวิต 43 คน เฉลี่ย 6 คน/วัน ขณะที่ตัวเลขการได้รับวัคซีน  144,951,341 โดส โดย 1 เข็มครอบคลุม 82.28% ส่วน 2 เข็มครอบคลุม 77.25%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการแพทย์ได้เผยแพร่แนวทาง การจัดบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด 19 สำหรับสถานพยาบาล ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 วันที่ 3 ก.ค. 2566 โดยระบุว่ากรมการแพทย์พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ จากคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ , Uhosnet , ราชวิทยาลัยฯ , สภาวิชาชีพ , สมาคมวิชาชีพ , ชมรมต่างๆ , ผู้แทนจากโรงพยาบาลทุกสังกัด ร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการปรับปรุงแนวทางการจัดบริการ โดยมีประเด็นปรับปรุงใหม่ตามสถานการณ์ 4 เรื่องดังนี้

1. การตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด 19 เมื่อผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ 2.เน้นการสวม Surgical Mask ทุกคนตลอดเวลา (Universal masking) ทั้งในผู้ป่วย รวมถึงผู้ติดตาม บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่อื่นๆ 3.เน้นการล้างมือในโอกาสที่จำเป็นและเหมาะสม 4.การสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง (ppe) ขึ้นกับความเสี่ยงของแต่ละกิจกรรมตามคำแนะนำ


กำลังโหลดความคิดเห็น