xs
xsm
sm
md
lg

สธ.-ก.พ.จัดทำข้อมูลสรุปชง ครม.เร็วที่สุด วางแนวทางแก้ภาระงาน ความก้าวหน้า การคงอยู่ในระบบทุกวิชาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.-ก.พ.จัดทำข้อสรุปร่วม ชง ครม. แนวทางแก้ปัญหาภาระงาน ความก้าวหน้า การคงในระบบ มีทั้งการตั้งกรอบอัตรากำลังขั้นสูง การจัดสรรบุคลากร ฯลฯ หากทันอาจเสนอวันที่ 4 ก.ค.นี้ ส่วนบรรจุ ขรก.โควิดรอบ 2 เป็นไปตามเกณฑ์ ก.พ.

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาภาระงาน ความก้าวหน้า ของบุคลากร สธ. หลังหารือร่วมกับ ก.พ. เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้ตั้งคณะทำงานร่วมขับเคลื่อนให้เห็นผลใน 30 วัน ว่า เบื้องต้นได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง สธ.และ ก.พ. มี พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 5 อดีต ผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) เป็นประธานร่วมกับรองเลขาธิการ ก.พ. ซึ่งคณะทำงานได้พิจารณารายละเอียดของข้อมูลในทุกสาขาวิชาชีพ ใช้ข้อมูลขับเคลื่อน และใช้หลักการที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมร่วมเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เลขาธิการ ก.พ.ให้คณะทำงานชุดนี้สรุปชุดข้อมูลร่วม เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้เร็วที่สุด ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มอบให้นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาร่วมประชุม เพื่อให้ความสำคัญเรื่องนี้ ทั้งนี้ สฑ.ได้ทำข้อมูลร่วมกันเพื่อเสนอต่อ ก.พ. และเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป หากเป็นไปได้ก็อยากให้เร็วที่สุดเพื่อทันต่อ ครม.ในวันที่ 4 ก.ค. ส่วนรายละเอียดต่างๆ ของเนื้อหาก็จะเป็นไปตามผลการหารือในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ซึ่งเลขาธิการ ก.พ.รับทราบเรื่องนี้และสนับสนุนเต็มที่ โดย ก.พ.จะเป็นผู้เสนอต่อ ครม.

สำหรับเนื้อหาที่จะนำส่ง ก.พ.ก็จะเป็นภาพรวม เป็นข้อๆ ว่าข้อไหนทำได้ก่อน ข้อไหนต้องปรับกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง ก.พ.เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นรายละเอียดในการปฏิบัติงาน แต่ภาพรวมก็จะเป็นข้อตกลงร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการกรอบอัตรากำลังขั้นสูงของแต่ละวิชาชีพ ความก้าวหน้าต่างๆ เป็นต้น

ถามว่า คณะทำงานชุดนี้เป็นในส่วนของ สธ.และก.พ.เท่านั้นหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เป็นคณะทำงานร่วมระหว่าง สธ.และ ก.พ. แต่หาก ครม.พิจารณาแล้ว และอาจมีการสั่งการเพิ่มเติมว่า มีข้อไหนต้องเกี่ยวเนื่องกับหน่วยงานใด ก็อาจมีการสั่งการเพิ่มก็เป็นได้ ทั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หรือแพทยสภา เป็นต้น

เมื่อถามว่ากรณีการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง จะไม่ได้มีการพิจารณาอยู่ในคณะทำงานชุดนี้ เพราะเป็นคนละส่วนหรือไม่ รองปลัด สธ.กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกับการพิจารณาของคณะทำงานชุดนี้ เพราะการบรรจุข้าราชการโควิดก็เป็นไปตามกฎระเบียบ ข้อกำหนดของ ก.พ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื้อหาที่คณะทำงานร่วมระหว่าง สธ. และ ก.พ.จะเสนอต่อ ครม. ตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. จะเน้นภาพรวมก่อน เพื่อให้ ครม.เห็นชอบการดำเนินการ ประกอบด้วย 1.เห็นชอบที่จะมีการเพิ่มตำแหน่งข้าราชการแต่ละวิชาชีพให้ได้ตามกรอบขั้นสูงที่กำหนด ภายในปี 2569 เช่น แพทย์ปัจจุบันมี 24,649 คน เพิ่มเป็น 35,578 คน พยาบาลปัจจุบันมี 116,038 คน เพิ่มเป็น 175,923 คน เป็นต้น 2.การดูแลเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ เช่น วิชาชีพพยาบาล ที่ไม่สามารถขึ้นเป็นระดับชำนาญการพิเศษได้ เนื่องจากไม่ตรงตามข้อกำหนดในระเบียบ จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อดูเกณฑ์ที่ติดขัดว่าผ่อนปรนได้หรือไม่

3.การจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์ จะเสนอแพทยสภาในการศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้าน ให้เพิ่มการฝึกอบรมใน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป 48 แห่งของ สธ.ที่เป็นสถานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านมากขึ้น เพื่อคงอัตรากำลังแพทย์ไว้ในพื้นที่ และเสนอ ก.พ. ไม่นับเป็นการลาศึกษาต่อ เนื่องจากเป็นการไปฝึกปฏิบัติงานในอีกหน่วยบริการหนึ่ง เพื่อให้ไม่เป็นข้อจำกัดในการเลื่อนขั้นเลื่อนระดับ 4.การจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (แพทย์ใช้ทุนปี 1) ให้เพียงพอกับภาระงาน ซึ่งปัจจุบัน สธ.ได้รับจัดสรรไม่ถึง 70% จะเสนอขอรับการจัดสรรเพิ่มเป็น 85% และ 5.โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) คงอยู่ในระบบมากถึง 90% จะขยายการผลิตให้ได้แพทย์ภาพรวมแต่ละปีประมาณ 2 พันคน ตามความต้องการของ สธ.


กำลังโหลดความคิดเห็น