xs
xsm
sm
md
lg

‘6 องค์กร’ ร่วมพลัง ยกระดับคุณภาพและศักยภาพองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ต้องเข้าถึงง่าย เล็งขยายทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกว่า ปี ๆ หนึ่งผู้บริโภคคนไทยโดนปล้นเงินจากกระเป๋าไปกับเรื่องอะไรบ้าง โดยเราขอหยิบยกเอาผลการสำรวจของสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 ธันวาคม 2565 ซึ่งทำให้พบตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อย โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมดกว่า 15,470 กรณี โดยดำเนินการแก้ไขเสร็จสิ้น 12,685 กรณี หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ซึ่งรวมเป็นมูลค่าความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภคกว่า 333,054,550 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องบอกว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

โดยอันดับหนึ่ง คือ ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร จำนวน 7,441 กรณี คิดเป็นร้อยละ 48.10 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ต่อมาคือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการ จำนวน 2,985 กรณี หรือร้อยละ 19.29 และอันดับที่ 3 เป็นปัญหาด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 1,292 กรณี คิดเป็นร้อยละ 8.36 ส่วนใหญ่เป็นกรณีถูกแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกให้โอนเงิน รวมถึงเอสเอ็มเอส (SMS) หลอกให้กดลิงก์ดูดเงิน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ในด้านสุขภาพของผู้บริโภคเองก็เป็นปัญหาไม่น้อย โดยการบริการสุขภาพ ตกอยู่ในอันดับ 4 ต่อมาเป็นเรื่องของ อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตามลำดับ

(นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.)
และนั่นจึงเป็นที่มาที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เล็งเห็นช่องโหว่อันตรายที่นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อสุขภาพอีกมิติหนึ่ง โดยการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพลังความร่วมมือ สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการบูรณาการเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค” ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สภาองค์กรของผู้บริโภค และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา

“ในสภาวะประเทศที่มีการซื้อของ ไม่ได้ของ ซื้อของได้กลับได้ของอันตราย ซื้อของแล้วไม่ได้คุณภาพ หรือแม้กระทั่งหลังโควิด-19 อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ทำให้คนรู้สึกตื่นตัวอยากบริโภค กลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนซะอย่างนั้น วันนี้ที่มาที่ไปที่ สสส. มองเห็นก็คือ การเข้ามาเสริมพลังองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ให้เขาสามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ทั้งยังเป็นตัวเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ กับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น สคบ. อย. หรือผู้ตรวจการที่รับหน้าที่จัดการปัญหา เพราะฉะนั้นเป็นวันที่เรามาพูดถึงความร่วมมือชิ้นสำคัญนั่นก็คือการคุ้มครองผู้บริโภคของเรา”


การลงนามในครั้งนี้ นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวต่อว่า สสส. จะทำหน้าที่สนับสนุนและร่วมพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ทั้งการให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ ทรัพยากรต่างๆ และสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพให้มีบทบาทร่วมพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ผ่านกลไก คคส. โดยจะขยายองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดต่าง ๆ มากขึ้น

โดยมีการกำหนด 3 ยุทธศาสตร์คุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและพัฒนาระบบยาไว้อย่างชัดเจน ดังนี้ 1.พลังนโยบาย ผลักดันการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อความปลอดภัยของประชาชน 2.พลังวิชาการ พัฒนามาตรการควบคุมสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 3. พลังสังคม หนุนเสริมการทำงานของภาคีเครือข่ายที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ

นอกจากการวางยุทธศาสตร์ สสส. ยังพร้อมพัฒนางานวิชาการเพื่อกระจายสู่ชุมชนให้มากยิ่งขึ้น

“คีย์เวิร์ดสำคัญของเราคือสร้าง นำ ซ่อม เพราะฉะนั้นคำถามคือจะทำอย่างไรให้เกิดองค์ความรู้ต่าง ๆ สสส. มีการพัฒนาทั้งงานวิชาการ ซึ่งผมคิดว่า การพัฒนางานวิชาการยังคงเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะทุกพื้นที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการใช้ฐานงานวิชาการมารองรับ เพื่อให้งานขับเคลื่อนไปอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งก็เพื่อที่จะให้ชุมชนในพื้นที่ หรือองค์กรต่าง ๆ สามารถรู้เท่าทัน หรือช่วยให้ประชาชนมีกลไกในการดูแลปกป้องตนเองได้ เราสื่อสารสิ่งที่ชาวบ้านจะเข้าใจ เป็นการทำงานสำหรับประชาชนโดยประชาชน แบบไหนที่เราเรียกว่าดี แบบไหนที่พอเหมาะ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าว


หากย้อนไปถึงการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วนั้น นอกเหนือจากการเข้าไปสนับสนุนศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ จัดการความรู้ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ สสส. ยังมีการร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ทั้งศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สนับสนุนกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาระดับภาค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) สร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จัดการความรู้ ฐานข้อมูล เฝ้าระวัง เตือนภัยสังคม และ มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ สร้างความรู้ความเข้าใจประชาชน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ เรื่องการใช้ยาอย่างเหมาะสม พร้อมพัฒนาความเข้มแข็งของกลไกเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค รวมทั้งการทำงานร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ปัญหาด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เชื่อว่า ประเด็นที่จะเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 และคาดว่าจะต่อเนื่องถึงปี 2567 คือปัญหาการขอชดเชยค่าสินไหมล่าช้า การกู้เงินออนไลน์ รวมทั้งปัญหาที่ยังต้องดำเนินการช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่น ถูกหลอกลวง ฉ้อโกง ซื้อขายออนไลน์ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการ โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ซึ่งมักแสวงหาผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพต่างๆ ด้วยตนเอง เมื่อได้รับความเสียหาย จะมีผู้บริโภคที่ร้องเรียนบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับการชดเชย

“ประเด็นหนึ่งที่ผมอยากฝากไว้คือเมื่อทุกครั้งที่เราถูกเอาเปรียบ เราถูกละเมิดสิทธิการเป็นผู้บริโภค มันมีหน่วยจัดการระดับพื้นที่อยู่ที่เราสามารถไปร้องเรียนได้ ทำให้การโกงของคนโกงมันหายไป บางทีในมิติทางกฎหมายอาจไปได้ไม่ทัน เพราะฉะนั้นการใช้องค์กรแนวหน้าระดับพื้นที่เพื่อที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมในเชิงพื้นที่เพิ่มมากขึ้น จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้งานด้านคุ้มครองผู้บริโภคเข้มแข็งขึ้น ซึ่งประชาชนนี่แหละเป็นส่วนสำคัญ ทุกคนสามารถเป็นหน่วยจัดการได้ รีพอร์ต ร้องเรียน ส่งข้อมูลไปยังภาครัฐหรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ เพื่อช่วยทำให้ปัญหาเหล่านี้ทุเลาลง” นายชาติวุฒิ ฝากทิ้งท้าย

(รศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ จุฬาฯ)
ทั้งนี้ ภายในงานยังเวทีเสวนา ‘รายงานสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคไทย’ นำโดย รศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ จุฬาฯ ผู้จัดการศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) / ผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) พร้อมด้วย ภก.สรชัย จําเนียรดํารงการ ผู้ร่วมวิจัยฯ โดยระบุว่า ตัวชี้วัดเหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นช่องโหว่ที่แสดงถึงจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขและหาแนวทางการพัฒนาต่อไป เพื่อเสริมให้งานคุ้มครองผู้บริโภคมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น และมีภาคีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยแบ่งออกเป็นตัวชี้วัด 5 องค์ประกอบหลัก ๆ ได้แก่

องค์ประกอบที่ 1 ศักยภาพและการเสริมศักยภาพผู้บริโภค

แม้หลายส่วนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอย่าง การมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการกําหนด , การได้รับงบสนับสนุนจากรัฐ, การมีแผนงานร่วมกับภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ขณะเดียวกันก็พบปัญหาเรื่องจํานวนขององค์กรของผู้บริโภคและหน่วยงานประจําจังหวัด ซึ่งครอบคลุมจังหวัดที่มีเพียงร้อยละ 53 และ 17 ตามลําดับเท่านั้น อีกทั้งมีอัตราการขยายตัวที่เติบโต ค่อนข้างช้า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของการบังคับ ใช้ พ.ร.บ.สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงยังไม่อาจตีความ ได้ว่าความล่าช้าดังกล่าวบ่งชี้ความด้อยศักยภาพขององค์กรที่เกี่ยวข้อง

องค์ประกอบที่ 2 กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคและการบังคับใช้กฎหมาย

แม้ตัวชี้วัดภายใต้องค์ประกอบนี้จะผ่านเกณฑ์ทั้งหมด เช่น มีการออกหรือแก้ไขกฎหมายตามสมควร หน่วยงานรัฐมีการบังคับใช้กฎหมายเป็นที่ประจักษ์ มีการพัฒนาและกําหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มีการบังคับใช้มาตรฐาน หน่วยงานรัฐมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ในระดับนานาชาติ และมีระบบรับเรื่องร้องเรียนฯ แต่การสํารวจกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายยังอาจไม่กว้างขวางพอ การพัฒนาและกําหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยังคงจํากัดอยู่ที่หน้าที่ของสมอ ซึ่งนับว่าน้อยเกินไป  อีกทั้งระบบรับเรื่องร้องเรียนที่ควรจะครบวงจรถึงการชดเชยความเสียหายจากการบริโภค มีความแตกต่างหลากหลายมาก ควรมีการทบทวนทั้งระบบให้มีมาตรฐานเดียวกัน

องค์ประกอบที่ 3 ความรู้และข้อมูลข่าวสารสู่ผู้บริโภค

ในระบบวัดที่ อย.น้อย มีประมาณร้อยละ 30 ของ รร.ทั้งหมด อย.และ สคบ.วัดการได้รับความรู้และมีความรู้เกี่ยวกับการบริโภค ได้ร้อยละ 70-80 และ 60-90 ตามลําดับ แต่โครงการ อย.น้อยที่มีเพียงร้อยละ 30 ของโรงเรียนทั้งหมด ก็มีค่าถามว่าจะมีผลกระทบ ต่อทั้งระบบการศึกษาหรือไม่ ส่วนการศึกษานอกระบบ รูปแบบควรจะเป็นอย่างไร ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพราะทุกวันนี้ การให้ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคทางออนไลน์มีน้อยเกินไป ในขณะที่สื่อหลอกลวงมีมากมา นอกจากนี้ ในด้านเนื้อหานั้น ไม่สามารถคาดหวังความทั่วถึงและความลึกซึ้งได้

องค์ประกอบที่ 4 ความยั่งยืนสําหรับผู้บริโภค

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้พัฒนามาตรฐาน G-GREEN เพื่อตรวจประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อม และให้การรับรองสถานประกอบการใน 7 ด้าน ประกอบด้วย Green Production, Green Hotel,, Green National Park, Green Office, Green Religion, Green Restaurant และ Green Upcycle จากปี 2556 ถึงปี 2566 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว 2,390 แห่ง

สรุปได้ว่า ผ่านได้ 10 ปีแล้ว ยังมีผู้ประกอบการน้อยที่ให้ความสนใจ อาจต้องเพิ่มสิ่งจูงใจให้มากกว่านี้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่น่าจะสําคัญที่สุดเมื่อเทียบกับองค์ประกอบอื่น เพราะจะทําให้เกิดความยั่งยืนแก่ผู้บริโภคแต่ก็เป็นตัวชี้วัดที่โน้มเอียงไปในเชิงอุดมคติหรือเป็นเรื่องไกลตัวที่ผู้บริโภคทั่วไปหรือแม้แต่ผู้ประกอบการทั่วไปมักไม่ใส่ใจอย่างจริงจัง ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืนจึงยังคงเป็นแบบต่างคนต่างทํา และเหมือนท่าพอเป็นพิธี ยังไร้พลังขับเคลื่อน

องค์ประกอบที่ 5 เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้บริโภค

จํานวนผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตได้ง่าย พบว่า ระหว่างปี 2563 - 2565 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และในปี พ.ศ. 2565 ไตรมาส 2 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 55.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 85.0 ซึ่งนับว่าอยู่ใน ระดับสูงทีเดียว เพียงแต่ยังไม่ทราบว่า การเข้าถึงง่ายนั้นก่อประโยชน์หรือโทษมากน้อยกว่ากัน

ในกระแสสากลปัจจุบันมีความเชื่อว่า หากประชาชนสามารถเท่าทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชน จะได้รับประโยชน์มากขึ้นจากระบบการบริโภค อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมช่องทางสื่อสารทางออนไลน์ย่อมมีผลลบเพิ่มขึ้นมากด้วยจากมิจฉาชีพ ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ง่ายในการตรวจสอบด้วย ซึ่งยังมีน้อยเกินไป

(รศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ จุฬาฯ และภก.สรชัย จําเนียรดํารงการ ผู้ร่วมวิจัยฯ)
อย่างไรก็ตาม แม้สภาองค์กรของผู้บริโภคจะก่อตั้งได้ไม่นาน แต่ก็มีความมุ่งมั่น ชัดเจนถึงกรอบการพัฒนางานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนโดยใช้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ตามมาด้วยองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการ

โดยสภาองค์กรผู้บริโภคปักธงไว้ว่า ผู้บริโภค จะต้องได้รับสินค้าและบริการที่ปลอดภัยและเป็นธรรม , มีองค์กรของผู้บริโภคในทุกจังหวัด โดยเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและธรรมาภิบาลในการดําเนินงาน , ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ เด็กทารก เด็ก จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

ด้านหน่วยงานของรัฐ จะต้องมีหน่วยงานของรัฐต้องมีนโยบายและออกกฎหมายที่เอื้อต่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล พร้อมต้องจัดให้มีกองทุนสนับสนุนกลไกการชดเชยหรือเยียวยาผู้บริโภค และสุดท้ายคือ ผู้ประกอบการ จะต้องเคารพสิทธิผู้บริโภค และดําเนินกิจการอย่างรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคม มีแนวปฏิบัติธุรกิจที่ดีและเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

“เมื่อมีครบทั้ง 3 ส่วนแล้ว สิ่งที่สำคัญที่จะต้องมีอีกก็คือ ระบบเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ติดตาม แจ้งเตือนภัย อีกทั้งระบบกลไก รับเรื่องร้องเรียน พิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค มีระบบข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้อง เพียงพอ เป็นธรรม เข้าถึงได้สะดวก” รศ.ภญ.ดร.วรรณา ให้ความเห็น

(นายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)
ในส่วนปัญหาขององค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค นายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ให้มุมมองในประเด็นนี้ในฐานะของ สปน. ไว้ว่า ปัญหาที่เห็นชัดเจนที่สุดนับตั้งแต่การทำ MOU ฉบับแรก คือองค์กรส่วนหนึ่งที่ต้องการเข้ามาจดแจ้งยังไม่เข้าใจกระบวนการทำงานเท่าที่ควร ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของ สปน. ที่ต้องเข้าไปชี้แจงให้ความรู้ภายในองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและไม่ให้เกิดปัญหาในการจดแจ้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในลำดับต่อไป

“เรามีความจำเป็นต้องเข้าไปอธิบายต่อองค์กรที่จะมายื่นทั้งหลายว่า ถ้าท่านมีความประสงค์จะไปจดแจ้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค ท่านจะต้องรู้ ต้องทราบกระบวนการพวกนี้ก่อนว่า คุณสมบัติของท่านครบถ้วนหรือไม่ ผลงานของท่านถูกต้องอย่างไรอันนี้คือหัวใจสำคัญที่เราเข้ามาร่วมกัน และเวลาลงพื้นที่เราก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปอธิบายเพื่อให้ทั้งเกิดองค์กรและผลงานที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งมันจะส่งผลต่อเวลายื่นจดแจ้ง จะได้ไม่มีปัญหาตามมา อันนี้ก็คือสิ่งที่เราอยากจะเห็นใน MOU ครั้งนี้”

นอกเหนือจากนั้น ใน MOU ฉบับนี้ สปน.จะมีอีก 2 บทบาทหลัก นั่นคือการสนับสนุนองค์กรที่เข้ามารับการประเมินคุณภาพ เพื่อเข้าสู่การจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภคตามพระบัญญัติการจดแจ้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ปี 2562 ส่วนอีกบทบาทจะสนับสนุนข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพขององค์กรผู้บริโภคให้เกิดการรับรองอย่างมีคุณภาพ


“สำหรับเป้าที่ผมตั้งไว้คืออยากให้มีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอีก 500 หน่วย จากข้อมูลล่าสุดที่มีเพียง 326 หน่วย และถ้าถามว่า ทำไมต้องการจำนวน ผมมองว่าจำนวนคือพลัง เราอยากให้มีมากขึ้นและกระจายทุกพื้น หรือจังหวัดละหนึ่งหน่วย แต่ก็คิดว่า มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากสมาชิกแต่ละคนขาดความรู้ ซึ่งอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า เราต้องไปสร้างฐานความรู้กับองค์กรก่อน และสิ่งสำคัญต่อมาคือการสร้างกลไกที่เป็นเชิงวิจัยมากขึ้น เพื่อสู้กับการโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลาย อย่าลืมว่า เอกชนลงโฆษณา ลง Ads เขาศึกษามาหมดแล้ว เวลาลง ต้องลงกี่ตอน แต่ของเราเหมือนมันหว่าน ผมอยากเห็นพลังของการทำสำเร็จ แม้ว่างบประมาณ Ads ของเรามันจะสู้ไม่ได้ก็ตาม” ผู้ตรวจราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น