xs
xsm
sm
md
lg

มหิดลวิจัย "โซเดียม-ความดันสูง" ส่อทำกระดูกพรุนง่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์คณะวิทย์ ม.มหิดล วิจัยร่วมซินโครตรอน พบบริโภคโซเดียมมากเกิน และโรคความดันโลหิตสูง ส่งผลเสียมวลกระดูก ยิ่งเสี่ยงความดันสูง ยิ่งเพิ่มเสี่ยงกระดูกพรุน

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ศ.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผอ.สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และนักวิจัยหลักของหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่า แคลเซียมมีความสำคัญต่อร่างกาย โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพราะช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกเพื่อความแข็งแรงของผู้เป็นแม่ ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ รวมถึงผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องรักษามวลกระดูก นอกจากการกินอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมแล้ว ยังต้องระวังการบริโภคอาหารที่อาจกลายเป็นปัญหาต่อการเสริมสร้างกระดูกและฟันด้วย

ศ.นพ.นรัตถพลกล่าวว่า ตนร่วมกับหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ทำการวิจัยโดยตั้งข้อสันนิษฐานถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรคความดันเลือดสูง การบริโภคอาหารที่มีปริมาณโซเดียมมากเกินพอดี และการเกิดโรคกระดูกพรุน ว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน โดยได้ทดลองใช้เครื่องเอกซเรย์สามมิติที่ใช้แสงซินโครตรอนกับกระดูกของหนูทดลองที่ป่วยด้วยโรคความดันเลือดสูง ทั้งจากปัจจัยทางพันธุกรรม หรือบริโภคโซเดียมมากเกินพอดี พบว่า โครงสร้างระดับจุลภาคของกระดูกหนูทดลองดังกล่าวมีรูพรุนเกิดขึ้นมากกว่าหนูทดลองโดยปกติ

"นำไปสู่ข้อสรุปว่า ทั้งการบริโภคโซเดียมที่มากเกินพอดี และโรคความดันเลือดสูง สามารถส่งผลเสียต่อกระดูกจนเกิดโรคกระดูกพรุนได้ ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความดันเลือดสูงอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนมากขึ้นตามไปด้วย โดยผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการ “Scientific Reports” ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำจากสหราชอาณาจักร" ศ.นพ.นรัตถพลกล่าว

ศ.นพ.นรัตถพลกล่าวว่า โรคกระดูกพรุนพบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดกับสตรีวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากความเสื่อมของร่างกายจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนสำคัญในการสร้างกระดูก รักษามวลกระดูก และป้องกันการเสื่อมสลายของมวลกระดูก และยิ่งจะส่งผลต่อการเกิดโรค เมื่อยังมีพฤติกรรมที่รับประทานติดรสเค็ม อย่างไรก็ตาม แม้โซเดียมที่มากจนเกินพอดีจะทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย แต่หากบริโภคโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสมตามที่กรมอนามัยแนะนำ จะส่งผลดีต่อการดูดซึมทั้งแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างเนื้อเยื่อกระดูก จึงไม่ควรมองว่า โซเดียม หรืออาหารเค็มเป็นผู้ร้าย แต่ที่จริงเกิดจากการบริโภคอย่างไม่เหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น