xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจตู้น้ำหยอดเหรียญ กทม. 90% เป็น "ตู้เถื่อน" แถมไม่ตรวจคุณภาพน้ำ ผู้บริโภคประกาศเปิดศึก ชง 3 ข้อ จี้ "ชัชชาติ" แก้ด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูลนิธิผู้บริโภค สำรวจตู้น้ำหยอดเหรียญกลาง กทม. 1.5 พันตู้ พบเป็นตู้เถื่อน 90% ขออนุญาตถูกต้องแค่ 10% ไม่ติดฉลาก 87% ไม่แสดงการตรวจคุณภาพน้ำ 91% หวั่นกระทบสุขภาพผู้คน ประกาศเปิดศึกลุยตั้งแต่ ก.ค.นี้ เตรียมสำรวจซ้ำ จี้ผู้ว่าฯ ชัชชาติแก้ปัญหา หลังยื่นเรื่องแล้วไม่คืบ ชง 3 มาตรการควบคุมด่วน

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รอง ผอ.ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ ร่วมกับศูนย์สิทธิผู้บริโภค ทั้ง 33 เขต ระดมกำลังแกนนำชุมชนลงพื้นที่สำรวจสถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,530 ตู้ ตั้งแต่กลางปี 2565 - ปัจจุบัน ตลอด 1 ปี ยังพบปัญหาเดิมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคมากถึง 90% พบปัญหาน้ำดื่มไม่ปลอดภัย มีสิ่งปนเปื้อน อีกทั้งตู้กดน้ำหยอดเหรียญทั่ว กทม. จาก 1,530 ตู้ที่สำรวจ ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเพียง 150 ตู้เท่านั้น หรือคิดเป็น 10% ที่เหลือ 90% กลายเป็นตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเถื่อนที่ถูกติดตั้งและกำลังจ่ายน้ำให้ประชาชนบริโภค ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นกิจการที่ไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยังเจอปัญหาไม่มีฉลากที่ระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ จำนวน 1,334 ตู้ คิดเป็น 87.2% และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำจำนวน 1,392 ตู้ คิดเป็น 91%

"ผลสำรวจดังกล่าว เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ของปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะเจ้าของสถานที่ติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ไม่ทราบว่าต้องมีการขออนุญาต หรือบางแห่งเป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่เท่านั้น รวมถึงบางกรณีเจ้าของสถานที่ซื้อตู้ต่อกันมาอีกทีและไม่มีทั้งใบอนุญาตและการทำความสะอาด เข้าใจว่าบริษัทที่ติดตั้งตู้จะมาทำความสะอาดให้ ที่สำคัญ ผู้ประกอบการได้ส่วนลดค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตู้หยอดเหรียญ เหลือแค่ 500 บาทต่อตู้ จากเดิมสูงถึง 2,000 บาทต่อตู้ ในเมื่อภาครัฐลดหย่อนราคาให้แล้ว แต่ทำไมผู้ประกอบการยังทำพฤติกรรมเหมือนเดิม" นางนฤมลกล่าว


นางนฤมลกล่าวว่า อีกประเด็นคือ เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยมาตรวจสอบ ทั้งที่ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการซื้อน้ำดื่มราคาถูก หากไม่ปลอดภัยจะส่งผลต่อสุขภาพประชาชนในวงกว้าง จากการสำรวจมา 1 ปีแล้วพบข้อมูลดังกล่าว จึงถือโอกาสนี้ประกาศเปิดศึกกับธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอันตรายเพื่อเดินหน้ามาตรการปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค กำหนดเริ่มเปิดแผนปฏิบัติการอีกครั้ง ตั้งแต่ต้น ก.ค. 2566 โดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค วางแผนปฏิบัติการสำรวจซ้ำจุดติดตั้งตู้น้ำดื่มที่เดิม ติดตามความคืบหน้ากรณี ผอ.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าพบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อ มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้เร่งแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งรับทราบว่าได้สั่งการไปยัง 50 เขตลงพื้นที่ไปสำรวจตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ แต่เหตุใดยังมีปัญหาเช่นเดิม

นางนฤมล กล่าวว่า มูลนิธิฯ เริ่มสำรวจตั้งแต่ปี 2559 รวมแล้ว 7 ปี ยังพบความไม่ปลอดภัยเหมือนเดิม ทั้งที่ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการซื้อน้ำดื่มราคาถูกกว่าน้ำบรรจุขวดปิดสนิทที่มีการควบคุมคุณภาพในการผลิต อีกทั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ 2535 ต้องขออนุญาตตามข้อบัญญัติ กทม. และต้องติดฉลาก ทั้งนี้ มูลนิธิฯ และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กทม. มีข้อเสนอแนะโดยขอให้ผู้ว่าฯ กทม. ออกมาตรการควบคุมธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นการเฉพาะ ได้แก่ 1.เร่งตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำผิด เพื่อจัดการปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐาน 2.ออกข้อบัญญัติ กทม. ควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เป็นการเฉพาะเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำธุรกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่มและให้มีบทกำหนดโทษ เพื่อให้น้ำที่ผลิตมีความสะอาดและปลอดภัย และ 3.ให้หน่วยงานรัฐร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ขยายผลการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ


กำลังโหลดความคิดเห็น