xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจพบเยาวชนไทยสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" 9.1% กทม.มากสุด ภาคใต้น้อยสุด 92% โดนเพื่อนชักจูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สบส.สำรวจพบเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 9.1% สัดส่วนอยู่ใน กทม.สูงสุด 14.6% ตามด้วยเขต 3 ภาคกลางตอนบน 13.6% และเขต 9 อีสานตอนล่าง 13.6% ส่วนน้อยสุดอยู่ภาคใต้เขต 11 พบ 4.9% ภาพรวมถูกเพื่อนชักชวนให้สูบสูง 92.2% และญาติ 3.2% เจอดูดร่วมบุหรี่มวนถึง 43.9% หนุน ยุว อสม. เยาวชนจิตอาสา รณรงค์ไม่ทดลองสูบ

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า การสูบบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต นอกจากจะส่งผลเสียด้านสุขภาพต่อผู้สูบแล้วยังส่งผลกระทบต่อผู้รับควันบุหรี่อีกด้วย หากงดการสูบบุหรี่ จะช่วยลดการสูญเสียก่อนวัยอันควรได้ ทั้งนี้ กองสุขศึกษา สบส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับประเทศและระดับพื้นที่ สำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย ระหว่างวันที่ 25 เม.ย. - 6 มิ.ย. 2566 มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 61,688 คน พบว่า ภาพรวมประเทศไทย เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 9.1 หากเจาะลึกในรายเขตสุขภาพ พบมี 6 เขตสุขภาพที่เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าในระดับประเทศ ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 13 กทม. ร้อยละ 14.6 เขตสุขภาพที่ 3 ร้อยละ 13.6 เขตสุขภาพที่ 9 ร้อยละ 13.6 เขตสุขภาพที่ 4 ร้อยละ 13.2 เขตสุขภาพที่ 8 ร้อยละ 12 และเขตสุขภาพที่ 5 ร้อยละ 11.2 ส่วนที่เหลือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 7 ร้อยละ 8.7 เขตสุขภาพที่ 6 ร้อยละ 8.3 เขตสุขภาพที่ 2 ร้อยละ 8 เขตสุขภาพที่ 12 ร้อยละ 8 เขตสุขภาพที่ 1 ร้อยละ 7.3 เขตสุขภาพที่ 10 ร้อยละ 6.3 และเขตสุขภาพที่ 11 ร้อยละ 4.9 หรือพื้นที่ที่สูบค่อนข้างน้อยเป็นส่วนของภาคใต้


ทั้งนี้ สาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการถูกชักชวนให้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจากคนรอบข้าง ส่วนใหญ่ถูกชักชวนจากเพื่อนร้อยละ 92.2 รองลงมาถูกชักชวนจากญาติร้อยละ 3.2 และจากคนในครอบครัวร้อยละ 1.6 นอกจากนี้ยังพบว่าเยาวชนที่สูบบุหรี่มวนจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมด้วยสูงถึงร้อยละ 43.9 ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น จึงเตือนเยาวชนไม่ทดลองสูบ ไม่ชวนสูบ เพื่อไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่

นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า เชิญชวนเยาวชนปฏิบัติสุขบัญญัติข้อที่ 5 งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ โดยสนับสนุนให้ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข แกนนำสุขภาพร่วมรณรงค์ และให้ความรู้ กับคนในพื้นที่เกี่ยวกับโทษของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยรณรงค์สร้างกระแสในประเด็น บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง ผ่านเครือข่ายภาครัฐและเอกชน สื่อมวลชนในทุกมิติ ซึ่งเป็นพลังที่สำคัญทำให้เยาวชนตระหนัก เห็นถึงพิษภัยของบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้




กำลังโหลดความคิดเห็น