เปิดประวัติ 2 หมอไทยดีเด่นแห่งชาติปี 2566 "พ่อหมอบุญมา" จ.สกลนคร อายุ 79 ปี เรียนจากครูบาอาจารย์ถึง 7 ท่าน ชำนาญการรักษากว่า 12 สาขา เป็นหมอ 10 บาทรักษาทุกโรค และ "หมอวิทย์" จ.สงขลา จากเคยป่วยไวรัสลงข้อ พลิกผันสู่การรักษาด้วยหมอพื้นบ้าน จนต้องขอเรียนเอง ชำนาญรักษษโรคหมอนรองกระดูก โรคเกี่ยวกับเส้น กรมแพทย์แผนไทยฯ เชิดชูหมอไทยพื้นบ้านองค์ความรู้สูง ส่วนหมอไทยรุ่นใหม่ยังต้องสะสมประสบการณ์ จ่อแปลงความรู้แผนไทยสู่ดิจิทัล ปรับลุคเข้าถึงคนรุ่นใหม่
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 20 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบรางวัลหมอไทยดีเด่นแห่งชาติปี 2566 ให้แก่ พ่อหมอบุญมา มุงเพีย จ.สกลนคร หรือหมอ 10 บาทรักษาทุกโรค และหมอประวิทย์ แก้วทอง จ.สงขลา เป็นหมอไม่หวงวิชา สอนให้ใครก็ได้ลูกหลานใครก็ได้ที่สนใจ ถ้าไม่ให้วิชาก็จะตายไปกับตัว ถ้าให้เด็กก็จะได้สานต่อช่วยคนอีกเป็นหมื่นเป็นแสน
สำหรับประวัติของหมอไทยดีเด่นแห่งชาติปี 2566 ทั้ง 2 คนมีดังนี้ "พ่อหมอบุญมา" เกิดเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2487 อายุ 79 ปี ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร โดยคลุกคลีอยู่กับผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการรักษาผู้ป่วยมาตั้งแต่อายุ 7 ปี (พ.ศ.2494) และได้รับการถ่ายทอดความรู้จากครูบาอาจารย์ในการรักษาโรค โดยใช้วิธีการรักษาในรูปแบบต่างๆ จนกระทั่งเมื่ออายุ 14 ปี มีความสนใจศึกษาการรักษาผู้ป่วยอย่างจริงจัง อาจารย์จึงพาไปตั้งสัจปฏิญาณต่อหน้าพระธาตุพนม และได้เริ่มเรียนรู้วิชาแบบตัวต่อตัว โดยอาศัยการสังเกตและการจดจำเท่านั้น ไม่มีตำราแต่อย่างใด ครูบาอาจารย์ของพ่อบุญมามีถึง 7 ท่าน แต่ละท่านจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกัน ได้แก่ อาจารย์อุย เรื่องการอยู่กรรม การจอดกระดูก , อาจารย์แย้ม เรื่องตัวอักษรธรรม ตัวยาสมุนไพรและการตรวจคนไข้ , อาจารย์จี๋ เรื่องไข้หมากไม้ ไข้ร้อนใน ไข้รากสาด อีสุกอีใส การกินของคะลำ (ของแสลงโรค) , อาจารย์เพ็ง เรื่องไข้หมากไม้ ไข้ร้อนใน อีสุกอีใส กินของคะลำ , อาจารย์เคี่ยน เรื่องไข้ตัวร้อน ไข้มาลาเรีย เด็กร้องไห้ตอนกลางคืน และอาจารย์อีก 2 ท่านไม่สามารถระบุชื่อได้
จากประสบการณ์และความรู้ความชำนาญในการรักษาโรคของพ่อบุญมาเป็นเวลานานหลายปี จึงได้รับเลือกให้ขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้านอย่างถูกต้อง จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สกลนคร และได้รับใบประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทเวชกรรมไทย ในปี 2554 โดยการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิจาก สธ. สำหรับความชำนาญในการรักษาโรค ได้แก่ 1.โรคทางผิวหนัง ได้แก่ เรื้อนกวาง ผื่นคัน ฝี 2. โรคทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ หัวใจโต ลิ้นหัวใจทึบ หอบหืด ภูมิแพ้ 3. โรคทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ได้แก่ ประดงกระดูก เกาต์ กระดูกพรุน รูมาตอย ประดงเข้าข้อ 4. โรคทางระบบตา ได้แก่ ริดสีดวงตา ต้อหิน ต้อกระจก ต้อลม 5. โรคหู คอ จมูก ได้แก่ ริดสีดวงจมูก คอพอก เยื่อหูอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ
6. โรคทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ริดสีดวงลำไส้ ฝีในท้อง กระเพาะ 7. โรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่ว 8. โรคทางทันตกรรม ได้แก่ ฟันผุ เหงือกบวม 9. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคเอดส์ หนองใน ซิฟิลิส เริม ต่อมน้ำเหลืองในมดลูก 10. โรคทางจิตและประสาท ได้แก่ ประสาทเสื่อม (ไขมันอุดตันในสมอง) 11. โรคทางระบบเลือดและน้ำเหลือง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เลือดจาง และ 12. โรคอื่นๆ ได้แก่ บรรเทาความเจ็บปวดจากมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งตับลำไส้ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี ดีซ่าน ตับโต ไตวาย อัมพาตครึ่งซีก อัมพาตทั้งตัว
สมุนไพรที่พ่อบุญมาใช้รักษาผู้ป่วยใช้เป็น “ยาตำรับประเภทยาต้ม” จะเตรียมโดยการเก็บสมุนไพรใหม่ทุกสัปดาห์ มาตากให้แห้ง และเตรียมยาใหม่ให้ผู้ป่วยทุกวันก่อนที่จะจ่ายยา แล้วมัดเป็นกำให้ผู้ป่วยไปต้มยาดื่มเอง ก่อนจะนำยาไปจ่ายให้ผู้ป่วย จะนำยาใส่พานทำพิธีกำกับยาต่อเทพก่อน จึงนำมาจ่ายให้ผู้ป่วยด้วยตนเองทีละคน และบอกวิธีการรับยาว่าต้องทำอย่างไร โดยตัวยาหลักที่ใส่ในทุกตำรับ ได้แก่ ประดง ปีบ กำแพงเจ็ดชั้น หมอยสาวแก่ และบวบลม ส่วนตัวยาเสริม ได้แก่ เครือเขาแกลบ
สำหรับหมอประวิทย์ เกิดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2492 อายุ 74 ปี ต.ทุ่งขมิ้น อ.นาหม่อม จ.สงขลา ชางบ้านเรียก “หมอวิทย์” เป็นบุตรของนายเซี่ยง แก้วทอง และนางอ่อน แก้วทอง มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน เป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว แต่งงานกับนางหนูขิน บุตรมณี มีบุตรสาว 2 คน เหตุการณ์จุดเปลี่ยนที่ทำให้มีโอกาสกลายมาเป็นหมอพื้นบ้านคือ เมื่อปี 2523 ตอนอายุ 31 ปี ได้ล้มป่วย มีอาการปวดข้อทุกข้อ เข่าบวมจนไม่สามารถเดินได้ แพทย์วินิจฉัยว่าไวรัสลงข้อ ทำการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันมานานกว่า 1 ปี แต่ไม่มีทีท่าว่าจะหายจากโรค จึงตัดสินใจไปรักษากับหมอพื้นบ้านหลายคน ทั้งนวด กินยาสมุนไพร ใช้เวทมนต์คาถา และไสยศาสตร์ แต่ก็ไม่หายจนมาพบกับหมอเพื้อม ศรีแก้วเขียว หมอพื้นบ้าน ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้ทำการรักษาโดยการนวด 12 ครั้ง กินยาสมุนไพรต้ม 5 หม้อ จนหายเป็นปกติดี จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาที่ท่านได้ช่วยชีวิตไว้ จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อที่จะเรียนวิชาความรู้ด้านการตรวจวินิจฉัยโรค การนวด การใช้ยาสมุนไพรและคาถาเวทมนตร์ต่างๆ
หลังจากนั้น หมอวิทย์ได้ศึกษาเพิ่มเติมจากหมอสีนวล หมอพื้นบ้านชาวทุ่งค้อ อ.นาหม่อม ผู้ชำนาญโรคโลหิตสตรี และการใช้เวทมนต์คาถาต่างๆ นอกจากนี้ ได้ศึกษาเพิ่มเติมจากตำราหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตำราอาจารย์ทอง วัดคลองแห เป็นต้น ความชำนาญในการรักษาโรค คือ 1. โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนเอว 2. โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ 3. โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต 4. โรคเกี่ยวกับเส้น เช่น เอ็นพลิก เอ็นจม ปวดเข่า ไหล่ติด สะบักจม เป็นต้น 5. โรคโลหิตระดูสตรี วัยทอง และ 6. โรคไข้ต่างๆ โดยการรักษาโรคส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้การ รักษาแบบผสมผสานระหว่างการนวด การใช้ยาสมุนไพร และการใช้เวทมนตร์คาถาร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการเขียนตำรับตำรา /เอกสาร ผลงานวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัย และร่วมกับนักศึกษาระดับปริญญาตรี/โท ในการศึกษาด้านการแพทย์แผนไทยเรื่องการนวดพื้นบ้าน/และสมุนไพร โดยเคยได้รับรางวัลหมอพื้นบ้านดีเด่น จ.สงขลา ปี 2556 รางวัลหมอไทยดีเด่นระดับเขตสุขภาพที่ 12 ปี 2558 และหมอไทยดีเด่นระดับจังหวัด ปี 2561
ด้าน นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกรณีแต่ละปีมีการมอบรางวัลหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ทรงภูมิและความรู้ ปัจจุบันการสืบค้นถึงหมอไทยหรือหมอพื้นบ้านที่เป็นคนยุคใหม่อายุไม่มาก เพื่อปรับลุคหรือสร้างภาพลักษณ์ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้นหรือไม่ ว่า เรื่องนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า หมอไทยหมอพื้นบ้าน เป็นความรู้ที่สะสมมานานและการให้รางวัลเราไปยกย่องในคนที่ทำได้ดีจริง เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเป็นคนอายุน้อย อาจจะไม่ได้เป็นหมอพื้นบ้าน โดยหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่จะเป็นคนสูงอายุ ซึ่งต้องแยกจากการจัดการเรียนแพทย์แผนไทยที่เป็นคนปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้มองว่าก็ยังโตได้อีก อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการสะสมประสบการณ์
ถามต่อว่าจะมีการปรับภาพลักษณ์ให้เรื่องของแพทย์แผนไทยเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้นกว่านี้หรือไม่เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องของคนเก่าคนแก่ ผู้สูงอายุ นพ.ธงชัยกล่าวว่า เรายกระดับแพทย์แผนไทย คงต้องมองทั้งระบบที่เราทำอยู่ และอาจจะโยงไปถึงศาสตร์หมอพื้นบ้านด้วยที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้ว เพียงแต่โดยข้อมูลที่เรามีอยู่ยังมีอีกเยอะ ไม่ว่าจะอยู่ในใบลาน อยู่ในตำราที่เป็นของในอดีต กรมฯ ได้วางแผนของบประมาณจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อที่จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาแปลงหรือเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นเอกสารโบราณให้มาเป็นดิจิทัล เพื่อเอาเรื่องเหล่านี้มาวิเคราะห์ปรับปรุง ถ้าบอกว่าเราจะได้สูตร ตำรับยา มีวิธีการ หรือได้สมุนไพรบางตัวใหม่ๆ ที่จะเอามาใช้รักษาต่อไป ถ้าจะให้เกิดความเชื่อมั่นและให้คนได้เข้าใจก็คงต้องทำในทิศทางแบบนี้