xs
xsm
sm
md
lg

อัตราใช้ "ยาสมุนไพร" ยังน้อยแค่ 5% ตั้งเป้าเพิ่มให้ถึง 20% รุก รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปทำ Wellness Center ลุยโปรโมทสมุนไพร 3 ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีแพทย์แผนไทย เผยอัตราใช้ "ยาสมุนไพร" ในระบบสุขภาพยังน้อยแค่ 5% ตั้งเป้าเพิ่มให้ถึง 20% ยันไม่ได้แข่งกับแผนปัจจุบัน แต่มาเสริมจุดอ่อน เน้นดูแลสุขภาพ รุกสร้างแบรนด์ TWD ดึง รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปทำ Wellness ชูฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระชายดำ ครบเครื่องจุดกระแสการใช้หลากหลาย

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่อิมแพค เมืองทองธานี นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 20 "สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย" ว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ ดำเนินการเรื่องสร้างภาพลักษณ์ของการใช้ยาสมุนไพรไทยมาตลอด 20 กว่าปี และมีงานวิจัยมาสนับสนุนในเชิงระบบ ในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นโยบายก็ชัดเจนว่าให้ใช้ยาสมุนไพรไทยทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน ในภาพรวมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม อาหารเสริมต่างๆ ปัจจุบันตัวเลขที่ดูจากยูโรมอนิเตอร์ ปี 2565 อยู่ที่ 52,000 ล้านบาท เราตั้งเป้าตามแผนยุทธศาสตร์สมุนไพรแห่งชาติ ปี 2566-2570 ว่า ปี 2570 จะต้องได้ถึง 90,000 - 100,000 ล้านบาท แต่จะเป็นส่วนของอาหารเสริมและเครื่องดื่มเยอะกว่า ส่วนของยาอาจจะไม่เยอะมาก อาจจะเป็นหลักพันปลายๆ ถึงหลักหมื่นล้านบาท

"การดำเนินการก็จะมีทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาและกระตุ้นการใช้ อีกอย่างช่วงโควิดเองก็ทำให้ประชาชนมั่นใจว่า สมุนไพรไทยก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญสามารถที่จะมาดูแลสุขภาพ ปีนี้ทางกรมฯ เองก็พยายามเปิดแคมเปญเรื่องของ wellness ซึ่งเข้าใจว่าภาคเอกชนทำเรื่องนี้เยอะมากขึ้น โดยใช้ศาสตร์แพทย์แผนไทย สมุนไพรใน wellness Center ต่างๆ เพื่อยกระดับและทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไป" นพ.ธงชัยกล่าว

นพ.ธงชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ สธ.ยังเปิดตัวอีกแบรนด์หนึ่ง คือ Thainess Wellness Destination หรือ TWD เพื่อให้เห็นภาพว่านี่เป็นเอกลักษณ์ของไทย คำว่า Thainess ในที่นี้หมายถึง มีรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสในการต้อนรับที่มีความเป็นไทย ถ้าหน่วยงานที่เป็นโรงแรม ร้านอาหาร ที่พัก สถานพยาบาล ร้านนวด สปา ถ้าได้ครบองค์ประกอบพวกนี้ เราก็จะไปให้การรับรองได้แบรนด์ TWD ซึ่งเราจะขยายต่อไปในอนาคต


ถามถึงกรณียาสมุนไพรที่ยังสร้างมูลค่าน้อย จะมีการส่งเสริมอย่างไร นพ.ธงชัยกล่าวว่า เข้าใจว่าที่ยังน้อย มองว่าปลายน้ำ ถ้าจะทำให้จุดนี้ทะลุไปได้ คงต้องทำที่ปลายน้ำ เรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ในระบบสุขภาพทั้งระบบ แพทย์ พยาบาล และวิชาการต่างๆ ให้มั่นใจตรงนี้ แนวทางที่กำลังขับเคลื่อนคือ จะเอาศาสตร์แพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย เข้าไปบูรณาการร่วม ไม่ได้ไปแข่งกับใคร ร่วมในส่วนที่แพทย์แผนปัจจุบันยังมีจุดอ่อนอยู่ ก็เอาศาสตร์แผนไทยก็ไป ถ้าทำแบบนี้เราจะสามารถร่วมกันและตั้งเป้าว่าในระบบสุขภาพเอง ศาสตร์แพทย์แผนไทยน่าจะเข้าไปมีส่วนในการดูแลประมาณ 20% วันนี้ตัวเลขการสำรวจอยู่ที่ 5% เท่านั้น

ถามว่าปีนี้จะมีการชูสมุนไพรอะไรเพื่อที่จะจุดกระแสเพิ่มเติมจากฟ้าทะลายโจรที่มาดูแลโควิดในปีก่อน นพ.ธงชัยกล่าวว่า ในไทยเรามีความหลากหลายของสมุนไพรค่อนข้างเยอะ ถ้าเราไปชูตัวใดตัวหนึ่ง ก็ยังคุยกับทีมว่าจะมีตัวใดตัวหนึ่งชัดๆ หรือไม่ แต่ใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา ที่ตนได้ประกาศเรื่องของ Herbal Champion มีสมุนไพรอยู่ 15 ตัว แต่ที่เป็นหลักๆ ตอนนี้มี 3 ตัว คือ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และกระชายดำ ซึ่งเลือกมาจากการปลูกในระบบมีรองรับ ตรงกลางน้ำการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีโรงงานมากมาย และปลายน้ำมีการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในท้องตลาด รวมถึงการส่งออก ครบองค์ประกอบทั้ง 3 อัน มี 3 ตัวนี้ที่โดดเด่น ก็น่าจะเป็นหลักที่จะขยายผลต่อไปในอนาคต ส่วนใหญ่การขับเคลื่อนส่งออกจะอยู่ในภาคเอกชนเป็นหลัก เท่าที่ทราบมีทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสมุนไพรอยู่ใน 10 ลำดับของโลก

"การดำเนินการเหล่านี้เพื่อมุ่งเป้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีแทนที่จะใช้ศาสตร์ตะวันตกอย่างเดียว ก็ได้แนวคิดว่าเอา รพ.เรามาทำให้มีศาสตร์ของแผนไทย และทางเลือกรวม โดยจะชวน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปมาทำ Wellness Center ที่จะใช้ศาสตร์แผนไทยมาร่วมมือกัน ทำให้การดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการส่งเสริมป้องกันให้ดีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยืดอายุ Anti aging Long Living การมีสุขภาพที่ดีต่างๆ เป็นแผนที่กำลังจะขับเคลื่อนต่อไป" นพ.ธงชัยกล่าว

นพ.ธงชัยกล่าวว่า ถ้าถึงปี 2570 เราจะเป็น 1 ใน 3 ของเอเชีย ส่วนในอาเซียนน่าจะเป็นที่หนึ่งได้ ส่วนในเอเชียอาจจะติดที่จีนและเกาหลีใต้ที่มีเยอะ ซึ่งจีนมีขนาดใหญ่และค่อนข้างทิ้งห่างจากลำดับ 2 การไล่ตามคงยาก แต่คิดว่าเราน่าจะอยู่ใน 3 ลำดับได้ ก็จะเป็นเป้าหมายที่ร่วมกันขับเคลื่อนทางภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น