สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตฯ ยื่น สปสช. ร้องขอบรรจุ 7 รายการยาใหม่เข้าบัญชีฯ ช่วยผู้ป่วยจิตเวชเจ้าถึงยาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิผล ผลข้างเคียงน้อย
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. นางนุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง จะมีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางจิตแล้ว ทั้งด้านยาจิตเวชและการรักษาพยาบาล แต่ปัจจุบันมียาจิตเวชรายการใหม่ที่มีคุณภาพและผลข้างเคียงน้อย แต่ยังไม่ได้บรรจุในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงยา ดังนั้น เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนพร้อมตัวแทนและผู้ปกครองของผู้ป่วยประมาณ 20 คน จึงเดินทางมา สปสช. เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน “กรณีการเข้าไม่ถึงยาของผู้ป่วยจิตเวช” ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อขอให้ผลักดันยาเหล่านี้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ ดูแลให้ผู้ป่วยจิตเวชทั่วประเทศเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและประสิทธิผล ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับรายการยาจิตเวช มี 7 รายการ ดังนี้ 1.Escitalopram ใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีประสิทธิภาพ ลดภาวะการเกิดยาไม่เข้ากัน (Drug interactions) 2.Venlafaxine ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรง เป็นยาต้านเศร้ากลุ่มใหม่ ให้ผลการรักษาที่ดี 3.Aripiprazole สำหรับเด็กออทิสติก เพิ่มทางเลือกยารักษาที่ช่วยลดผลข้างเคียง 4.Paliperidone inj. ยาดูแลผู้ป่วยจิตเภท เป็นยาจิตเวชกลุ่มใหม่ ควบคุมอาการทางจิตได้ดี 5.Olanzanpine tablet. เพิ่มข้อบ่งชี้ใช้รักษาเรื่องจิตเวช 6.Long acting methylphenidate ดูแลกลุ่มเด็กสมาธิสั้น ออกฤทธิ์ระยะยาว ลดการกินยา และ 7.Long acting Aripiprazole inj. สำหรับผู้ป่วยจิตเภทและอารมณ์แปรปรวน ไม่มีผลข้างเคียงและมีความปลอดภัยสูง
“ผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วยกลไกสาธารณสุขและสิทธิบัตรทอง 30 บาท ได้ให้การดูแลที่ดีอยู่แล้ว เพียงยังมียาบางตัวที่ผู้ป่วยได้รับแตกต่างกัน โดยผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนยังเข้าไม่ถึงยาที่มีประสิทธิผลและผลข้างเคียงน้อย ด้วยราคาแพงจึงไม่มีสิทธิเข้าถึง ย้ำว่า สมาคมฯ ไม่ได้ทำเพื่อผู้ป่วยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทำเพื่อผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางจิตทั่วประเทศ” นางนุชจารี กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.รับเรื่องนี้ และพร้อมผลักดันเพื่อให้ผู้ป่วยบัตรทองได้รับการรักษาที่ดีอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ที่ผ่านมา สปสช.บรรจุเพิ่มสิทธิประโยชน์รายการยาใหม่อย่างต่อเนื่อง และจากทั้ง 7 รายการยาที่สมาคมฯ นำเสนอเป็นยาที่ยังไม่ได้ขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ สปสช. จะต้องทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติก่อนว่า ได้มีการพิจารณายาเหล่านี้ไปแล้วหรือไม่ ซึ่งอาจอยู่ระหว่างดำเนินการ