สธ.เตรียมจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 20 วันที่ 28 มิ.ย. - 2 ก.ค. 2566 ที่อิมแพค คาดเงินสะพัดกว่า 300 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นการใช้สมุนไพร ขนบริการและให้คำปรึกษาแพทย์แผนไทยฟรี ทั้งสุขสำราญนิทราคลินิก บำบัดฟื้นฟูยาเสพติด รักษาอาการ Long COVID ด้วยศาสตร์แพทย์แผนไทย พร้อมแจกกล้าไม้ทุกวัน
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. และ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 20 “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย”
นายอนุทินกล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของสมุนไพรไทยมีโอกาสสูง เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมาและโควิด 19 ประชาชนมีการเลือกใช้สมุนไพรดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้สมุนไพรเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก มีแนวโน้มบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศสูงขึ้นทุกปี โดย 3 ปีย้อนหลังพบว่า ปี 2565 มีมูลค่า 52,104.3 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 48,108 ล้านบาท และปี 2563 มูลค่า 45,997.9 ล้านบาท สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 ที่มุ่งเน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร กำหนดเป้าหมายปี 2570 ขนาดตลาดวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยน่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท การพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่ ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ยังต้องเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อสร้างเศรษฐกิจ ความเข้มแข็งของชุมชน และความมั่นคงทางสุขภาพ ให้ไทยแข่งขันอุตสาหกรรมสมุนไพรในระดับนานาชาติได้ โดยปี 2566 กรมการแพทย์แผนไทยฯ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 20 เพื่อร่วมสนับสนุนนโยบายการเปิดประเทศ คาดว่าจะมีเงินสะพัดตลอดทั้ง 5 วันของการจัดงานกว่า 300 ล้านบาท
นพ.โอภาสกล่าวว่า สธ.ขับเคลื่อนงานด้านสมุนไพรภายใต้ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 และแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ซึ่งในช่วงปี 2560-2565 ที่ใช้แผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 1 การแข่งขันด้านอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ASEAN และ ASEAN+6 พบว่า ไทยมีมูลค่าการบริโภคสมุนไพรจำนวน 48,809 ล้านบาทต่อปี มีอัตราการขยายตัวของตลาดสมุนไพรร้อยละ 3.4 ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนของตลาดสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดพร้อมดื่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับใช้รักษาอาการไอ หวัด แพ้อากาศ และผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเสริม สำหรับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 - 2570 จะดำเนินการครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ ด้านยุทธศาสตร์สมุนไพรแห่งชาติ ด้านวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพร ด้านวัตถุดิบสมุนไพร ด้านอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการสมุนไพร และด้านภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร ให้แข่งขันตลาดทั้งในและต่างประเทศ เชื่อว่า การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะเป็นส่วนสำคัญในการปกป้อง คุ้มครองภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย มิให้สูญหาย อยู่อย่างทรงคุณค่าในเชิงสังคมและวัฒนธรรมของชาติ นำมาใช้ในระบบสุขภาพ สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ด้าน นพ.ธงชัย กล่าวว่า งานมหกรรมสมุนไพรฯ ครั้งที่ 20 จัดขึ้นวันที่ 28 มิ.ย. - 2 ก.ค. 2566 ฮอลล์ 11 - 12 อิมแพค เมืองทองธานี ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การศึกษาวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อยกระดับนวัตกรรมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้านสุขภาพ สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายชุมชนและผู้ประกอบการธุรกิจบริการสุขภาพ ภายในงานแบ่งกิจกรรมเป็น 2 ประเภท คือ 1.Health ประกอบด้วยโซน "Wisdom" จัดแสดงนิทรรศการ 4 ภูมิภาค ให้บริการและสาธิตโดยหมอพื้นบ้าน หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ เช่น นวดไทย 4 ภูมิภาค การเหยียบเหล็กแดง กาดมั่ว เป็นต้น แสดงผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่พัฒนาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ชมและเรียนรู้การแพทย์แผนไทยสมุนไพรในพระไตรปิฎก และโซน "Service" ให้บริการและคำปรึกษาฟรี ทั้งด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คลินิกกัญชาทางการแพทย์ คลินิกรักษาอาการ LONG COVID ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย โดยปีนี้มีให้บริการ “สุขสำราญนิทราคลินิก” รักษาอาการปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับ เปิดตัวการบำบัดฟื้นฟูและลดอันตรายจากยาเสพติดและ Palliative care
2.Wealth ประกอบด้วย โซน Innovation & Product, Wellness & Thainess , Business Matching มีการแสดงนิทรรศการ เพื่อนำเสนองานวิจัย และนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในทุกระดับ , นิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์สมุนไพรนานาชาติ จากผู้ประกอบการต่างประเทศ , การพัฒนาตำรับยาลดการเสพติดจากตำรับยาทำให้อดฝิ่นและยารักษาอาการทางโรคผิวหนังจากกระท่อม , กิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสมุนไพร เพื่อเป็นช่องทางส่งเสริมด้านการตลาด นอกจากนี้ ยังมี โซนวิชาการ เช่น งานสัมมนาวิชาการนานาชาติเรื่องกัญชากัญชง , การประชุมวิชาการประจำปี ในหัวข้อต่างๆ , ประชุมอภิปรายประเด็นเฉพาะ 16 หัวข้อ การประกวดผลงานวิชาการประจำปีฯ , ตลาดความรู้ 15 หลักสูตรฟรี มีโซนจัดแสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่มีมาตรฐานกว่า 300 บูธ แจกกล้าไม้ กล้าไม้ยืนต้น สมุนไพร ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และลุ้นรางวัลฟรีมากมายในงาน