ผลวิจัยชี้ เด็กเยาวชนไทยเล่นพนันออนไลน์เกือบ 3 ล้านคน เหตุเห็นโฆษณาบ่อย-ถูกชักชวน เล่นแล้วเกิดปัญหา 18.5% ห่วงเด็กรุ่นใหม่มีทัศนคติดีต่อพนัน เจอกระแสแค่เล่น-หารายได้ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องหลอกลวง เป็นแค่ข้อเสนอให้เล่นหรือไม่ นร. 79.5% รับรู้มีพนันในโรงเรียน
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน ในงานเสวนาวิชาการ “เปิดพฤติกรรมเยาวชนไทย...รู้เท่าทันภัยพนัน?” จัดโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางกลุ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนัน สสส. กล่าวว่า เครื่องมือการสร้างการรู้เท่าทันภัยพนัน อาจไม่สามารถตอบคำถามใหม่ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ต้องช่วยกันหาแนวทาง อย่างคนเล่นพนันที่สร้างความชอบธรรมให้ตนเองโดยบอกว่า แค่ ‘เล่น’ หรือ ‘หารายได้’ ไม่ได้เสี่ยงอะไร และอีกหลายประเด็นเป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ไข เพื่อสร้างค่านิยมหยุดการพนันอย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า ผลสำรวจการเล่นพนันออนไลน์คนอายุ 15-25 ปี ต้นปี 2566 พบว่าเล่นพนันออนไลน์เกือบ 3 ล้านคน มากกว่าครึ่งเล่นทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ส่วนใหญ่เคยเห็นโฆษณาและถูกชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์ 44% เห็นแล้วอยากลอง ลองเข้าไปดู ลองเข้าไปเล่น และ 1% แชร์ข้อความโฆษณาไปยังสาธารณะ ทำให้การโฆษณาพนันออนไลน์ขยายวงกว้าง คนที่คิดจะเล่นพนันเพื่อเป็นช่องทางหารายได้ การพนันออกแบบให้เจ้ามือชนะเสมอในระยะยาว ซึ่งคนชนะเป็นคนส่วนน้อย ชนะแล้วไม่เลิกสุดท้ายเงินที่เคยได้ก็หมดไปกับพนัน แต่คนชอบจำตอนชนะ ได้รางวัล คิดว่าสามารถควบคุมตัวเองได้ อยากเล่นหรืออยากหยุดเมื่อไรก็ได้ ประกอบกับบางคนเคยเห็นพ่อแม่เล่น เห็นเพื่อนเล่น และคนเสพติดพนันอารมณ์จะแปรปรวน มีโอกาสตกอยู่ในภาวะควบคุมตัวเองไม่ได้ เสียพนันจนก่อให้เกิดปัญหาได้
ผศ.ดร.ไพฑูรย์ สอนทน อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เพชรบูรณ์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ร.ร.มัธยม 4 แห่ง จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 3,744 คน พบว่า นักเรียนครึ่งหนึ่งมีทัศนคติที่ดีต่อการเล่นพนัน แม้ส่วนใหญ่จะไม่เคยเล่นพนัน แต่พบนักเรียนที่เล่นพนันอยู่ถึง 14.7% เล่นพนันออฟไลน์อย่างเดียว 4.0% เล่นพนันออนไลน์อย่างเดียว 3.9% และเล่นทั้ง 2 ทาง 6.8% เมื่อให้นักเรียนที่เล่นพนันอยู่ตอบแบบทดสอบการเล่นพนันแบบเป็นปัญหา พบการเล่นแบบเป็นปัญหามากถึง 18.5% เป็นกลุ่มที่มีความถี่เล่นพนันสูง และเล่นพนันทั้งสองช่องทางมีสัดส่วนมากกว่า ซึ่งนักเรียนที่เข้าข่ายเป็นนักพนันที่มีปัญหา มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหา 3 เท่า
นายอุบล สวัสดิ์ผล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า จากการศึกษามุมมองเรื่องพนันของเด็กวัยมัธยมศึกษา 2 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อพูดถึงการพนัน 32.9% คิดถึงการพนันประเภทต่างๆ ที่พบเห็นในชุมชน และคาสิโนชายแดน 23.5% คิดถึงอารมณ์สนุกสนาน 23.5% ตอบว่าพนันคือสิ่งผิดกฎหมาย 2. พื้นที่โรงเรียนขนาดใหญ่ ครู และสภานักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ สภานักเรียนเก็บข้อมูลจากเพื่อนๆ ชั้นมัธยม 1-6 รวม 426 คน พบว่า 79.5% รับรู้ว่ามีการเล่นพนันในโรงเรียน และทุกคนมีคนรอบตัวเกี่ยวข้องกับการพนัน จากคำถามชวนคิด ‘เมื่อได้ยินคำว่า พนัน เราคิดถึงอะไร?’ 43.3% คิดถึง ประเภทการพนัน และพนันออนไลน์ชนิดต่างๆ มากที่สุดคือคำว่า สล็อต 24.5% คิดถึงเรื่องกฎหมาย ศีลธรรม ผลกระทบ 11.1% คิดถึงกลยุทธ์ วิธีการเล่น เสี่ยงโชค 6.6% คิดถึงอารมณ์สนุกสนาน 3.5% คิดถึงสถานที่เล่นพนัน จำนวนที่เหลือตอบว่ารู้สึกเฉยๆ
รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ข้อมูลนักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน 400 คน ช่วง ก.ค. 2565 – มี.ค. 2566 และเก็บข้อมูลเชิงลึกนักศึกษาที่เล่นพนันออนไลน์ 12 คน พบว่า ค่อนข้างรู้เรื่องสื่อโฆษณาชวนพนัน พนันออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องหลอกลวง เป็นเพียงข้อเสนอให้เลือกว่าจะเล่นหรือไม่ ไม่ได้บังคับ มองว่าพนันออนไลน์เป็นเพียงเกมออนไลน์ที่มีเงินรางวัล เป็นการเสี่ยงโชค ลุ้นรางวัล ทำให้สนุกตื่นเต้น ซึ่งการติดพนันเป็นโรคทางจิตเวช รักษาได้ เมื่อพบคนติดพนัน สิ่งที่ควรทำคือ มีสติ ใจเย็น ต้องไม่ตำหนิ ไม่คาดหวังว่าเขาจะหายจากการติดพนันในทันทีเมื่อหยุดเล่นพนัน
นายพิทักษ์เดช ชุมไชโย รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เด็กทุกคนรู้ว่าการเล่นพนันเป็นเรื่องผิด แต่ยังเล่นพนัน เพราะไม่มีความตระหนัก โซเชียลมีเดียทำให้เข้าถึงพนันได้ง่าย การเห็นโฆษณาบ่อยๆ เห็นเพื่อนเล่นได้ ก็อยากเล่นตาม บางคนคิดว่าจะหารายได้จากการเล่นพนัน บางคนหารายได้ด้วยการโฆษณาพนัน เปิดเฟซบุ๊กเพื่อโปรโมทเว็บพนัน เพราะเห็นเพื่อนทำแล้วได้เงินโดยไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย การเล่นพนันบ่อย ๆ อาจทำให้เด็กกลายเป็นคนติดการพนันโดยไม่รู้ตัว สภาฯ กำลังสื่อสารเรื่อง การพนันเป็นสิ่งเสพติด ไม่ต่างจากการติดเหล้าหรือบุหรี่ และกำลังพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ เพื่อถ่ายทอดให้กับเด็ก และเยาวชนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น