xs
xsm
sm
md
lg

เตือน "หมึกกรอบ" ออนไลน์ เจอฟอร์มาลีนมากสุด จี้เอาผิดจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้บริโภค สุ่มตรวจ "หมึกกรอบ" กทม.และปริมณฑล 14 ตัวอย่าง พบ 57% ปนเปื้อนสารฟอร์มาลีน เจอจากซื้อออนไลน์มากสุด ชี้เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร หากจำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลตรวจอาหารทะเลของกรมอนามัย ปี 2563 จำนวน 14,046 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง พบมากที่สุดใน หมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลีน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหารหรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจสอบ “หมึกกรอบ” ปนเปื้อนฟอร์มาลินของนิตยสารฯ จำนวน 14 ตัวอย่าง จากแหล่งจำหน่ายสินค้าใน กทม.และปริมณฑล ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง , ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง และร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ส่งวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 ช่วงเม.ย.2566 พบปนเปื้อนฟอร์มาลีน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยพบในตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์สูงเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือตลาดสด

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวว่า หากถามว่า ฟอร์มาลีนมีอันตราย อาการระยะสั้นจากการสูดดมเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้ หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรงจะมีผลต่อระบบผิวหนังหลังสัมผัสคือ ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้ หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว

วิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยจากฟอร์มาลีน จากร้านค้าที่ไม่มีการแช่ในตู้เย็น สามารถใช้วิธีดมกลิ่น ถ้ามีกลิ่นฉุนแสบจมูกให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลีนอยู่ แต่ปัญหามักเกิดกับอาหารทะเลซึ่งเหม็นคาว อย่างไรก็ตาม สามารถกำจัดฟอร์มาลีนที่ปนเปื้อนบนเนื้อได้ด้วยการใช้น้ำด่างทับทิม เพื่อเปลี่ยนฟอร์มาลดีไฮด์ให้เป็นกรดฟอร์มิคหรือกรดมดได้ แต่ควรคำนึงด้วยว่า เนื้อสัตว์ที่ชุบฟอร์มาลีนนั้นมักไม่ถูกสุขอนามัยที่ดีมาก่อน จึงต้องใช้ฟอร์มาลีนกลบเกลื่อนความไม่สด จึงไม่สมควรนำเนื้อดังกล่าวมาบริโภคและไม่ควรโยนให้สัตว์กิน


กำลังโหลดความคิดเห็น