xs
xsm
sm
md
lg

ชู "คลินิกพยาบาล" ดูแลรักษาแบบไม่ต้องพบแพทย์ ลดแออัด รพ. บริการถึงบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณบดีพยาบาล ม.มหิดล ชี้ “คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น” ช่วยดูแลรักษาเบื้องต้นที่ไม่ต้องพบแพทย์ แถมดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ลดแออัด รพ. เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพมาตรฐาน แนะ สปสช.สร้างการรับรู้ พิจารณากรอบศักยภาพแต่ละคลินิกตามความสามารถเฉพาะทาง เพื่อขยายบริการมากขึ้น

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. รศ.ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวถึงคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ขึ้นทะเบียนเป็น “คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า ช่วงการระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถมารับบริการที่ รพ.ได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ กทม. หรือเขตบางกอกน้อยที่คณะฯ ตั้งอยู่ หรือถึงมาได้ก็ต้องเจอความแออัด คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล จึงมองว่าการมีคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ เป็นเรื่องจำเป็น เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2565 มีเป้าหมายคือ 1.ทำให้คนในพื้นที่บางกอกน้อยเข้ารับบริการที่มีคุณภาพในขอบเขตที่วิชาชีพพยาบาลให้ได้ และ 2. ทำให้คนที่ไม่สามารถไป รพ.ได้และไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เช่น ทำแผล เปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ ฟื้นฟูต่างๆ ในส่วนที่วิชาชีพพยาบาลทำได้ ได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน ไม่ต้องไปแออัดใน รพ. รวมถึงเป็นแหล่งฝึกให้กับนักศึกษาพยาบาลได้

รศ.ดร.ยาใจ กล่าวว่า คลินิกการพยาบาลฯ ของคณะ ให้บริการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นตามขอบเขตที่วิชาชีพพยาบาลทำได้ ให้บริการพยาบาลเชิงรุกดูแลต่อเนื่องที่บ้านของคนในพื้นที่ โดยประสานกับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. รพ.ศิริราชและ รพ.ใกล้เคียงในการรับดูต่อ เมื่อผู้ป่วยออกจาก รพ.ก็สามารถรับบริการจากคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นได้เลย ถือเป็นการแบ่งเบาภาระของศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีข้อจำกัดเรื่องกำลังคน ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ ประชาชนที่มารับบริการที่คลินิกมากที่สุด คือ การดูแลแผล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ประชาชนสามารถได้รับบริการโดยที่ไม่ต้องมาอัดใน รพ. ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมารวม 6-7 เดือน พบว่าย่านบางกอกน้อยพึงพอใจกับการให้บริการโดยเฉพาะการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน

"การมีคลินิกการพยาบาลฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบริการของ สปสช. จะเข้ามาเติมเต็มระบบบริการ เช่น พื้นที่ กทม. จะพบว่าผู้สูงวัยหรือผู้มีปัญหาโรคเรื้อรังหลายๆ คนยังขาดคนดูแล แม้จะมีสิทธิรักษาที่รัฐบาลกำหนด แต่คนเหล่านี้มารับบริการที่ รพ.ได้ยากลำบาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. มีกำลังคนไม่มาก คลินิกการพยาบาลฯ จะช่วยให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพราะคณะพยาบาลศาสตร์มีอาจารย์กว่า 130 คน แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลกุมารเวช ศัลยศาสตร์ อายุรศาสตร์ ผู้สูงอายุ สุขภาพจิต ผดุงครรภ์ หรือสุขภาพสตรี และยังออกไปให้บริการดูแลต่อเนื่องที่บ้านด้วย ทำให้เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น" ผศ.ดร.ยาใจกล่าว

ผศ.ดร.ยาใจกล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมา ยังพบปัญหา เช่น ประชาชนยังไม่รู้จักคลินิกพยาบาลฯ จึงต้องประชาสัมพันธ์มากขึ้น คิดว่า สปสช. ควรช่วยเรื่องนี้ หรือเครือข่ายของ สปสช. รับรู้ว่ามีคลินิกการพยาบาลฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่ไหน จะสามารถเข้าไปรับบริการได้ที่ไหนบ้าง และอยากให้ สปสช. พิจารณากรอบศักยภาพของคลินิกการพยาบาลตามขอบเขตวิชาชีพพยาบาล หรือตามความสามารถเฉพาะทางที่พยาบาลสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ เพื่อขยายขีดความสามารถให้บริการประชาชนของคลินิกการพยาบาลฯ เพิ่มขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น