กรมการแพทย์เซ็น MOU ร่วมศูนย์มะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่น ศึกษาทางคลินิก การตอบสนอง "ยารักษามะเร็ง" ระดับยีน เสริมการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ ช่วยได้ยาที่เหมาะสมกับคนไทย คุณภาพดี ราคาเหมาะสม คาด 3 เดือนเริ่มได้
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ และ Dr.Hitoshi Nakagama อาจารย์ใหญ่ศูนย์มะเร็งแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือในการทดลองทางคลินิก ระหว่างกรมการแพทย์ และศูนย์มะเร็งแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น โดย นพ.ธงชัยกล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งถึง 19 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 10 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่ง โดยยารักษามะเร็งแต่ละตัวอาจจะไม่สัมพันธ์กับผู้คนแต่ละประเทศ จึงต้องมีการศึกษาวิจัยยาทางคลินิก ซึ่งญี่ปุ่นขอความร่วมมือไทยร่วมวิจัยครั้งนี้ เนื่องจากเห็นศักยภาพด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศไทย โดยญี่ปุ่นได้มาตั้งสำนักงานสถาบันวิจัยที่นี่ ซึ่งการเข้ามาศึกษาวิจัยนั้น จะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ไทยตามข้อกำหนดของแพทยสภาด้วย ทั้งนี้ เมื่อยาตัวใดสำเร็จจากงานวิจัย ก็จะมีประโยชน์ต่อคนคนไทยในราคาที่เหมาะสมต่อไป
"การศึกษาวิจัยยารักษามะเร็งร่วมกับยีน จะช่วยให้รู้ว่ายาเหมาะสมกับคนไทยหรือไม่ มะเร็งตัวไหน โดยดูระดับยีนจะทำให้รู้ว่าเหมาะสมเฉพาะตัวคนไข้คนนั้นหรือไม่ ได้ผลแค่ไหน ศึกษาเรื่องปริมาณยาและระยะของมะเร็ง รวมถึงการกลับมาเป็นซ้ำ และความร่วมมือไม่ใช่แค่สถาบันมะเร็งแห่งชาติของไทย แต่ยังรวมถึงโรงเรียนแพทย์ และ รพ.เอกชนก็จะมาร่วมวิจัยด้วย" นพ.ธงชัยกล่าว
ด้าน พญ.นภา ศิริวิวัฒนกุล ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า เหตุผลที่เราต้องมาวิจัยร่วมกัน เนื่องจากคนเราแต่ละภูมิภาคและเชื้อชาติ มีการตอบสนองการรักษาด้วยยาต่างๆ ไม่เหมือนกัน ดังนั้น จุดเริ่มต้นรู้ว่ายาตัวนี้สำหรับญี่ปุ่นคนไข้ตอบสนองได้ดี คนผิวเอเชียอย่างเราเป็นอย่างไร เลยอยากมาร่วมมือกับเรา ซึ่งแนวโน้มการรักษามะเร็งในปัจจุบัน เราพยายามเน้นเรื่องการแพทย์แม่นยำหรือเฉพาะบุคคล (Precision Medicine) เป็นการศึกษาลึกลงไปมากกว่าปกติ จะเห็นว่าการรักษามะเร็งบางโรคบางคนตอบสนองการรักษาสูตรนี้ แต่ทำไมบางคนไม่ตอบสนอง ก็ต้องลงไปถึงระดับยีน หากเราทำได้สำเร็จอีกหน่อยการรักษามะเร็งน่าจะประสบความสำเร็จที่ดีขึ้น คนไข้มะเร็งมีชีวิตยืนยาวขึ้นเยอะ สำหรับโครงการนี้มีการหารือมาค่อนข้างนาน สิ่งหนึ่งที่กรมการแพทย์ สธ. หวังว่าหลังเสร็จการวิจัยหรือข้อมูลต่างๆ แล้ว คนไทยน่าจะได้รับยาที่เป็นประโยชน์ คุณภาพดี แต่ราคาต่ำลง
"ในช่วง 3 เดือนนี้น่าจะเริ่มเห็นโครงการวิจัยยาบางตัวที่ญี่ปุ่นกำลังคิดว่าจะนำเข้ามาใช้วิจัยวิเคราะห์ในคนไทย โดยเราจะมีคณะกรรมการทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นพูดคุยกันต่อหลังเซ็น MOU น่าจะได้ข้อมูลที่คุยได้มากกว่านี้ ส่วนการศึกษาโดยมีโรงเรียนแพทย์และเอกชนเข้าร่วมนั้น เราต้องคำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่างของการศึกษาก่อนว่าจะใช้เท่าไร รวบรวมมาจากจุดต่างๆ ด้วย จะได้เป็นตัวอย่างของการกระจายที่ถูกต้อง" พญ.นภากล่าว