สธ.เขต 8 นำร่องจัดตั้ง รพ.ทันตกรรม ในอุดรธานีและหนองคาย ช่วยเพิ่มเข้าถึงบริการจาก 10% เป็น 20% ลดเวลารอคอย 4 เท่า จาก 2-4 เดือน เหลือ 15 วัน - 1 เดือน มุ่งเป้าเป็นศูนย์กลางทันตกรรมลุ่มน้ำโขง
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนางานบริการด้านทันตกรรม จ อุดรธานีและหนองคาย ว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่ สธ.ให้ความสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนยังเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมได้น้อย เพราะต้องรอคิวนาน โดยปี 2565 มีค่าเฉลี่ยการเข้าถึงบริการทันตกรรมภาพรวมของประเทศเพียงร้อยละ 9.5 จึงมีแนวคิดให้ขยายบริการและยกระดับเป็นสถานบริการเฉพาะทาง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการมากขึ้น ซึ่งเขตสุขภาพที่ 8 มีความพร้อมและมีแผนที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็น รพ.ทันตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า การเข้าถึงบริการทันตกรรมในภาพรวมของเขตสุขภาพที่ 8 อยู่ที่ร้อยละ 10.53 แม้จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่ยังสามารถเพิ่มศักยภาพการบริการได้ โดย รพ.ในเขตฯ ทั้ง 7 จังหวัด ได้เพิ่มยูนิตให้บริการและขยายเวลาให้บริการนอกเวลาราชการ พร้อมทั้งเตรียมจัดตั้ง รพ.ทันตกรรมที่ จ.อุดรธานี และหนองคาย จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการทันตกรรมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ลดระยะเวลารอคอยการอุดฟันจาก 2.3 เดือน เหลือ 15 วัน ใส่ฟันเทียม/รักษารากฟัน จาก 3-4.4 เดือนเหลือ 1 เดือน
ทั้งนี้ จ.อุดรธานีอยู่ระหว่างนำร่องจัดตั้ง รพ.ทันตกรรมชั่วคราว รองรับบริการผู้ป่วยนอก 5 ยูนิต ผู้ป่วยใน 2 เตียง ที่ รพ.สต.นาข่า อ.เมือง จะเปิดให้บริการใน ก.ย.2566 และสร้าง รพ.ทันตกรรม ที่ ต.สามพร้าว อ.เมือง ให้บริการด้านทันตกรรมที่ครอบคลุม พร้อมเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านบริการทันตกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ส่วน จ.หนองคาย มีแผนจัดสร้าง รพ.ทันตกรรม ขนาด 16 ยูนิต ในปี 2568