สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ - กรมพินิจฯ ชี้ผลวิจัย “นวัตกรรมการตรวจสารเสพติดในเส้นผม” เครื่องมือ “ป้องกันปัญหาการกระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน” สถิติปี 2566 ลดลงสูงสุดกว่า 25% เป็นปีแรก เชื่อมั่น นวัตกรรมฯ เพิ่มคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จัดประชุมถ่ายทอดผลการวิจัย “โครงการวิจัยการขยายผลนวัตกรรมการตรวจสารเสพติดในเส้นผม เพื่อป้องกันปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน” ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม จากการสนับสนุนงบประมาณของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยการจัดประชุมมีผลสืบเนื่องจากการดำเนินงานด้านการตรวจพิสูจน์สารเสพติดในเส้นผมในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ปี 2561 ดำเนินโครงการวิจัย ระยะที่ 1 เรื่อง “การพัฒนาระบบป้องกันการเสพติดซ้ำของเด็กและเยาวชนโดยการตรวจสารเสพติดในเส้นผม” พบว่า ในปี 2562 สถิติตรวจพบสารเสพติดของเด็กและเยาวชนในความดูแลของศูนย์ฝึกฯ ลดลงอย่างเป็นรูปธรรม
ระยะที่ 2 เรื่อง “การยกระดับความร่วมมือด้านการใช้เทคนิคการตรวจสารเสพติดในเส้นผมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันการเสพซ้ำของเด็กและเยาวชน” เป็นการยกระดับความร่วมมือด้านการตรวจสารเสพติดในเส้นผม เพื่อใช้ในการป้องกันการเสพซ้ำของเด็กและเยาวชน โดยการดำเนินการจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ด้านการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และกรมคุมประพฤติ พร้อมทั้งดำเนินการนำร่องการตรวจพิสูจน์ฯ ในกลุ่มเด็กและเยาวชนจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ระยะที่ 3 ได้ดำเนินการขยายผลนวัตกรรมการตรวจสารเสพติดในเส้นผมเพื่อป้องกันปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ประสบความสำเร็จในการขยายผลนวัตกรรมไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดการประชุมว่า จากการบูรณาการความร่วมมือของสองหน่วยงานหลัก ในการร่วมกันขับเคลื่อนขยายผลและต่อยอดนวัตกรรม เพื่อป้องกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ในการตรวจการใช้ยาเสพติดของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง โดยใช้เทคนิคตรวจสารเสพติดในเส้นผม ทั้งนี้ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหารือกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 1 (นางอภิรดี โพธิ์พร้อม) ด้วยความตั้งใจนำไปใช้ในกระบวนการให้ศาลมีคำสั่งในการตรวจพิสูจน์ ซึ่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีความพร้อมรับข้อเสนอทุกอย่างที่ได้จากงานวิจัยที่นำไปสู่การปฏิบัติ โดยจะผลักดันด้านงบประมาณให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณประจำปี หรืองบของกระทรวงยุติธรรม
“โครงการวิจัยฯ นี้ จะนำไปสู่การใช้จริงและถือเป็นภารกิจหลักสำคัญที่ไม่ทับซ้อนหน่วยงานใด ซึ่งจะดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ทั้งนี้ ขอให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่รัฐบาล ในการจัดสรรงบประมาณให้กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์สารเสพติดในเส้นผม เพราะการตรวจสารเสพติดในเส้นผมเป็นการเพิ่มคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ" ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าว
พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุมครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กรมพินิจฯ ให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือในการนำมาดูแลแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชน ในส่วนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 นั้น ความก้าวหน้าการนำมาใช้ในงานนิติวิทยาศาสตร์ ด้านสังคมเห็นผลอย่างชัดเจนมากขึ้น ตรงนี้ต้องขอบคุณสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่เป็นห้องปฏิบัติการสำคัญที่สุดในการทำให้เครื่องมือมีประสิทธิภาพ และสามารถขยายผลการทำงานได้อย่างชัดเจนในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยสถิติทางผลการวิจัยที่เป็นรูปธรรม แนวโน้มการลดลงของเด็กและเยาวชนกลุ่มที่เป็นคดียาเสพติดของกรมพินิจ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมามีแนวโน้มลดลง โดยเชื่อว่าการใช้สารเสพติดในเส้นผมเป็นเครื่องมือสำคัญเครื่องมือหลักในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เราพยายามแก้ไข เมื่อเด็กออกไปอยู่ภายนอก เช่น การกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว การฝึกอาชีพ การไปเรียนหนังสือ เป็นต้น
“จากสถิติปี 2565 ช่วง 6 เดือนแรก การกระทำผิดซ้ำของเด็กลดลงเหลือ 15% ปี 2566 เป็นปีแรกที่กรมพินิจฯ มีสถิติการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชน ต่ำกว่า 20% ในตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับคดียาเสพติด เด็กที่ถูกดำเนินคดียาเสพติด ลดลงใน 6 เดือนแรก เหลือ 25% จากการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เกิดจาก องค์ประกอบของเครื่องมือที่ใช้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีนัยยะสำคัญว่าเรื่องการตรวจสารเสพติดในเส้นผมการแก้ไขบำบัดเด็กและเยาวชน ผ่านกระบวนการการศึกษา การฝึกอาชีพในสถานที่ทำงานอย่างจริงจัง รวมไปถึงจะนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลในเรื่องของยาเสพติด นอกจากนี้ กรมพินิจฯ ก็ได้นำไปใช้อย่างจริงจังในด้านเศรษฐกิจที่แก้ด้วยการฝึกอาชีพผ่านกลไกการฝึกอาชีพจากผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ด้วยกลไกการตรวจสารเสพติดในเส้นผมที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมเด็กและเป็นเครื่องมือในการยืนยันให้สถานบริการ, สถานประกอบการ หรือธุรกิจเอกชนต่างๆ ได้ทำหน้าที่ในการฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชน นำเครื่องมือมาใช้และให้ความเชื่อมั่นว่าเด็กของเราที่ไปอยู่กับเขานั้นได้พยายามรักษาตัวเองไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างจริงจัง ดังนั้น เครื่องมือนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันกับบุคคลภายนอกได้อย่างชัดเจน” อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าว
อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวอีกว่า มิติต่อไปของโครงการวิจัยฯ โดยอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 1 มีนโยบายในการขยายผลนวัตกรรมการตรวจสารเสพติดในเส้นผม เพื่อป้องกันปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นภารกิจต่อไป โดยจะเริ่มนำร่องกับกลุ่มศาล จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลแขวงดอนเมือง และศาลแขวงธนบุรี ซึ่งจะนำเครื่องมือในการวิจัยไปใช้กับกลุ่มที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเริ่มจากการจัดทำบัญชีมาตรฐานโทษของภาค ซึ่งจะมีข้อยกเว้นคือการเสพยา กรณีเสพยา ครั้งที่ 1, 2 ยังสามารถผ่อนปรนได้ เพราะเราก็เชื่อว่าการเสพยาไม่ได้เลิกง่าย ๆ ยังให้โอกาสได้ และจะมีการตรวจติดตามไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าถึงครั้งที่ 5 ศาลจะไม่ให้โอกาส ซึ่งได้กำหนดหลักการไว้ว่าจะไม่รอการลงโทษ เช่น กรณีที่เสพยาเสพติดประเภทหนึ่งเป็นครั้งที่ 5 หรือเป็นความผิดผู้ขับขี่เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ ขับรถแท็กซี่สาธารณะ หรือเป็นความผิดเกี่ยวกับอื่น ๆ จำเลยมีปัญหาใช้สารเสพติดและมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมากระทำความผิดซ้ำ จะส่งผลกระทบกับสังคมภายนอกอย่างรุนแรง ก็จะกำหนดไม่ให้รอการลงโทษ โดยขอย้ำว่าเครื่องมือนี้จะช่วยกำกับและมีประโยชน์ในการป้องกันสังคมได้อย่างเห็นผลชัดเจน
ด้าน นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กล่าวว่า เรามีนโยบายในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำให้เด็กและเยาวชนให้เลิกเสพได้ ในอนาคตอยากให้มีการเซ็น MOU กันใหม่หรือเรื่องใดก็อยากให้มีผู้บริหารสำนักศาลยุติธรรเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่ประโยชน์ของนักวิจัย แต่เป็นประโยชน์ในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะประโยชน์ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการแก้ไขเด็กและเยาวชนมิให้กระทำผิดซ้ำไม่ใช้ตัดสินคดีอย่างเดียว การตัดสินคดีทำผิดมา ตัดสินไปมันง่าย แต่ว่าจะทำอย่างไรตัดสินคดีแบบไหน หรือว่าดำเนินการคดีแบบไหนที่ให้เด็กและเยาวชนไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ
นางพวงทิพย์ นวลขาว ผู้อำนวยการกองพัฒนาการคุมประพฤติ กรมคุมประพฤติ กล่าวว่า กรมคุมประพฤติ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการวิจัย ระยะที่ 2 หากมองในเชิงที่เป็นคุณ สำหรับเด็กและเยาวชน ถ้าจะนำวิธีตรวจสารเสพติดทางเส้นผมมาใช้ ก็จะใช้วิธีการในเชิงของการให้เด็กได้เห็นความสำคัญและสมัครใจที่จะใช้ อีกส่วนหนึ่งในเรื่องของประมวลกฎหมายอาญาเสพติด ก่อนที่จะเข้าสู่ภารกิจงานของกรมคุมประพฤติก็จะมีในเรื่องของการบำบัดฟื้นฟูโดยสมัครใจ ซึ่งชุมชนหรือกำนันผู้ใหญ่บ้านอาจจะใช้วิธีการที่จะดึงเด็กเหล่านี้เข้ามารับการบำบัดฟื้นฟูด้วยวิธีการสมัครใจ แต่ถ้าพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะใช้วิธีการที่จะให้เด็กและผู้ปกครองเข้ามายืนยันได้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่เราดูแลอยู่ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้ถูกคุมประพฤติเราก็มองลักษณะเช่นเดียวกันว่าเราอาจจะต้องพูดคุยกับเด็กให้เห็นถึงประโยชน์ ในระหว่างคุมความประพฤติ ถ้าเด็กมีพฤติการณ์ที่ดีขึ้น เราก็อาจจะต้องรายงานให้ศาลทราบในเชิงบวกสำหรับพฤติการณ์ในเรื่องของเงื่อนไขยาเสพติดตรงนี้ ในอนาคตถ้าได้ผลดีก็จะนำไปสู่การเพิ่มเติมการตรวจสารเสพติดในเส้นผม โดยออกเป็นประกาศ ของกระทรวงยุติธรรม ต่อไปในอนาคต
ศาสตราจารย์ พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ในฐานะผู้บริหารแผนงานวิจัยระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 3 กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้เป็นความสำเร็จที่คุ้มค่า และตรงตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ว่างานวิจัยต้องไม่อยู่บนหิ้ง และนำไปสู่การใช้ประโยชน์
เกิดความคุ้มค่าทางสังคม เศรษฐกิจและชุมชน สิ่งที่จะดำเนินการในอนาคตต่อไป โดยผู้บริหารในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมมองว่าจะร่วมขับเคลื่อนผลงานวิจัยชิ้นนี้อย่างไร และในฐานะที่เป็นผู้บริหารแผนงาน และมีโอกาสได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการในการพิจารณาโครงการวิจัยในสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เล็งเห็นโครงการที่เป็นประโยชน์และสามารถนำความรู้และนวัตกรรมที่มีอยู่ไปขยายผลถ่ายทอดผ่านศูนย์องค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขยาเสพติดได้ และอีกส่วนหนึ่งคือนำผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เฉพาะด้าน ในการตรวจหาสารเสพติดในเส้นผมมาเป็นเครือข่ายในศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับชาติและนานาชาติ
พันตำรวจโทหญิง อัมพิกา ลีลาพจนาพร ผู้อำนวยการกองตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้กล่าวสรุปว่า จากผลการดำเนินโครงการวิจัยฯ คณะผู้วิจัยดำเนินการตรวจพิสูจน์สารเสพติดจากเส้นผมในกลุ่มเด็กและเยาวชนในความดูแลของศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน และจัดทำแบบฟอร์มการเก็บข้อมูลผลการตรวจพิสูจน์สารเสพติดในเส้นผมในรูปแบบของ Microsoft excel ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน พร้อมทั้งวิเคราะห์ผลการตรวจสารเสพติดในเส้นผมเด็กและเยาวชนกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ฝึกและอบรมฯ มีการดำเนินการนำร่องการนำการตรวจพิสูจน์สารเสพติดในเส้นผมไปใช้ประโยชน์กับสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 1 และกรมคุมประประพฤติ ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลผลการวิจัยคณะผู้วิจัยได้รับมาตรการในการป้องกันและป้องปรามการเสพสารเสพติดของเด็กและเยาวชนต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งดำเนินการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของการจัดทำ e – Learning ที่จะสามารถเรียนรู้ anytime anyway ด้านการตรวจพิสูจน์สารเสพติดจากเส้นผม เพื่อขยายผลนวัตกรรมการตรวจสารเสพติดในเส้นผมให้แก่หน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่ในการควบคุม ดูแล บำบัด ฟื้นฟู และป้องกันการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชน รวมถึงหน่วยงานที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนและสังคม เครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์สารเสพติด และหน่วยงานทางการศึกษา โดยผู้ที่เข้ามาเรียนรู้นอกจากได้ความรู้แล้ว เมื่อจบบคอร์สเรียนจะรับใบประกาศนียบัตรอีกด้วย”
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ด้านการตรวจพิสูจน์สารเสพติดในเส้นผม ณ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และพบว่าศูนย์ฝึกที่มีศักยภาพในการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ด้านการตรวจพิสูจน์ฯ คือ ศูนย์ฝึกฯ เขต 1 จังหวัดระยอง ซึ่งพร้อมมากถึง 70 % การดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถกลับตนเป็นคนดี และป้องกันปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต