xs
xsm
sm
md
lg

พบปีนี้ป่วย "พิษสุนัขบ้า" ดับแล้ว 3 ราย ใน 3 จว. ส่วนเคสหนุ่มเมียนมา จ.ตาก ป่วยตาย พบถูกกัดนอกประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค เผยปีนี้พบตายจาก "โรคพิษสุนัขบ้า" 3 ราย ที่ชลบุรี ระยอง และสุรินทร์ เหตุไม่รับวัคซีนป้องกันหลังสัมผัสโรค ส่วนเคสหนุ่มเมียนมาที่ จ.ตาก ดับจากพิษสุนัขบ้า สอบสวนโรคพบถูกกัดที่เมียนมา ไม่นับเป็นผู้ป่วย-ตายในไทย ประสานพื้นที่เฝ้าระวังสัตว์ในพื้นที่ ย้ำถูกสัตว์ไม่แน่ใจประวัติกัดข่วน ให้รับฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ว่า จากการเฝ้าระวังโดยกองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 23 พ.ค. 2566 มีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และสุรินทร์ จังหวัดละ 1 ราย เนื่องจากการไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค และบางรายเคยมีประวัติได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำหลังถูกสุนัขกัด สำหรับกรณีชายเมียนมา อายุ 28 ปี เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าที่ จ.ตาก เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น จากการวอบสวนโรคพบว่า ผู้เสียชีวิตถูกสุนัขกัดที่ขาขณะอาศัยอยู่ที่เมียนมาช่วงกลาง มี.ค. 2566 เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 เข้ารักษาที่คลินิกเอกชนใน จ.ตาก ต่อมาอาการไม่ดีขึ้นส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ รพ.แม่สอดเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 แพทย์เก็บน้ำลายและปมรากผมส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลเป็นบวกเชื้อพิษสุนัขบ้า และเสียชีวิตวันที่ 3 พ.ค.

"ถือว่าเป็นการสัมผัสโรคในต่างประเทศ จึงไม่นับเป็นผู้ป่วย/ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค อย่างไรก็ตาม ได้ประสานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชายแดนเฝ้าระวังและติดตามผู้สัมผัสสุนัขตัวดังกล่าวที่เมียนมา แจ้งเตือนผู้สัมผัสสัตว์สงสัยโรคพิษสุนัขบ้าตัวอื่นๆ ในพื้นที่ให้ไปรับการฉีดวัคซีน และเฝ้าระวังโรคในสัตว์ไปพร้อมกัน โดยเฉพาะสุนัขและแมวในพื้นที่ อาจได้รับเชื้อจากสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า" นพ.ธเรศกล่าวว่า


นพ.ธเรศกล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ตลอดทั้งปี หากในพื้นที่มีสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อแล้วไปกัดคนหรือสัตว์ตัวอื่น โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมว พบบ้างในโคกระบือ เชื้อเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อ เข้าทางแผลหรือเยื่อเมือกอ่อน ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าจะพบอาการทางระบบประสาทแบบเฉียบพลัน ระยะแรกจะมีไข้ อาจมีอาการคันบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด แสบ ร้อน แล้วลามไปส่วนอื่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมาอาจกระสับกระส่าย กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ประสาทหลอน ไวต่อสิ่งกระตุ้น เสียการทรงตัว พูดจาเพ้อเจ้อ กลืนลำบาก น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก ชักเกร็ง อาจพบอาการกลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ เรียกว่า Furious form พบประมาณ 80% ส่วนอีก 20% คือ อาการอัมพาตกล้ามเนื้อ จะเริ่มจากข้างที่ถูกกัด ก่อนลุกลามไปยังแขนขา และเสียชีวิตในที่สุด

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ แต่ป้องกันได้โดยนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า คนที่ถูกสัตว์กัด/ข่วน หรือสัมผัสน้ำลายของสัตว์เข้าทางบาดแผลหรือเยื่อเมือกอ่อน โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือได้รับครั้งล่าสุดเกิน 1 ปี หรือไม่ทราบประวัติวัคซีน ลูกสัตว์ที่เกิดจากแม่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่ทราบประวัติวัคซีน ได้รับวัคซีนยังไม่ครบตามกำหนด หรือสัตว์ที่เคยได้รับวัคซีนแต่มีอาการป่วย หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ โดยให้น้ำไหลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 นาที หลังจากนั้นรักษาบาดแผลโดยการใส่ยาฆ่าเชื้อ กักขังสัตว์ที่กัด/เลีย สังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งซากสัตว์สงสัยตรวจหาเชื้อ และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับวัคซีนหลังสัมผัสโรคที่สถานพยาบาลหลังถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสน้ำลายสัตว์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันจะฉีดวัคซีนเพียง 4-5 ครั้งเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น