วิจัย "ชุดตรวจคัดกรองโรคไตเบื้องต้น" จากการตรวจอัลบูมินในปัสสาวะ พบมีประสิทธิภาพแม่นยำสูง มี ค่าความถูกต้อง 94% ความไว 96% ค่าจำเพาะ 97.8% ผ่าน อย.แล้ว เสนอบรรจุเข้าสิทธิบัตรทอง ช่วยกระจาย รพ.สต. ช่วยคนที่ไตยังกรองได้ปกติ แต่มีความเสี่ยงรู้ผลเร็ว ป้องกันไตเสื่อมตั้งแต่ระยะแรกๆ
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ศ.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ข้อมูลรายงานผู้ป่วย รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2564 มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมากถึง 1,007,251 ราย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการกินอาหารและการกินยารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยความรุนแรงของโรคไตเรื้อรังแบ่งเป็น 5 ระยะตามประสิทธิภาพการทำงานของไต การดูแลรักษาระยะที่ 1-4 คือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต เช่น งดสูบบุหรี่ ลดอาหารเค็ม จำกัดอาหารประเภทโปรตีน ฯลฯ แต่ระยะที่ 5 หรือระยะสุดท้าย จะต้องบำบัดทดแทนไตร่วมด้วย ทั้งนี้ โรคไตระยะเริ่มต้นมักจะไม่แสดงอาการ การตรวจคัดกรองโรคจึงต้องตรวจหาค่า "ซีรัมครีเอตินีน" และตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะเท่านั้น เพราะปกติจะตรวจไม่พบอัลบูมินในปัสสาวะ เนื่องจากไตสามารถกรองเก็บเอาไว้ได้ ถ้าตรวจพบอัลบูมินในปัสสาวะหมายถึงประสิทธิภาพการกรองของไตลดลง และเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรัง
"การตรวจด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยต้องมาที่ รพ. แม้จะใช้เวลาตรวจไม่นาน แต่ต้องเสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ผมและทีมได้ทำการวิจัยโครงการพัฒนาระบบการคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นในระดับปฐมภูมิด้วยชุดตรวจ albuminuria โดยได้สนับสนุนทุนวิจัยจาก สวรส. เพื่อประเมินประสิทธิภาพของชุดตรวจฯ โดยศึกษาในอาสาสมัครที่ไม่มีอาการ แต่มีปัจจัยเสี่ยงโรคไตเรื้อรังระยะต้น มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ปี โดยเป็นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงร่วมด้วยรวม 2,313 ราย" นพ.ณัฐชัยกล่าว
นพ.ณัฐชัยกล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัคร 595 ราย หรือ 25.72% เข้าเกณฑ์สงสัยโรคไตเรื้อรัง โดยสามารถตรวจพบอาสาสมัครที่มีปริมาณอัลบูมินต่อครีเอตินีนในปัสสาวะที่ผิดปกติมากกว่าจำนวนอาสาสมัครที่มีอัตราการกรองของไตผิดปกติ แสดงว่า การตรวจวัดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะมีความสำคัญในการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังมีการกรองของไตยังเป็นปกติ ส่วนผลการทดสอบอัลบูมินในปัสสาวะด้วยชุดแถบตรวจโรคพบว่า มีค่าความถูกต้องเฉลี่ย 94% ค่าความไวเฉลี่ย 86% ค่าความจำเพาะเฉลี่ย 97.8% ค่า PPV เฉลี่ย 88.2% และมีค่า NPV เฉลี่ย 97.4% ในการตรวจวินิจฉัยภาวะไมโครอัลบูมินรั่วในปัสสาวะ ซึ่งเป็นอาการแสดงเริ่มต้นของไตเรื้อรัง
"ชุดตรวจที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น ถือว่ามีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง ใช้งานสะดวก อ่านผลได้อย่างรวดเร็ว มีลักษณะเป็นชุดตรวจคัดกรองแบบ ATK จึงสามารถนำไปใช้ตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปตรวจที่ รพ. ยังนำชุดตรวจไปใช้ในภาคสนาม รพ.ชุมชน หรือ รพ.สต.ที่ขาดแคลนเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการได้สะดวก ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้มากยิ่งขึ้น" นพ.ณัฐชัยกล่าว
นพ.ณัฐชัยกล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายคือ ควรมีการนำชุดตรวจคัดกรองโรคไตเข้าสู่สิทธิบัตรทอง เพื่อใช้ในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดอย่าง รพ.สต. หรือศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) จะช่วยให้ประชาชนรู้ค่าอัลบูมินที่บ่งบอกถึงการเป็นโรคไตได้ตั้งแต่ต้น เกิดการตระหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต เพื่อนำไปสู่การลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายในภาพใหญ่ได้ ทั้งนี้ ชุดตรวจได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรรมอาหารและยา (อย.) แล้ว สามารถจับมือกับภาคเอกชนผลิตเป็นเชิงพาณิชย์เพื่อจำหน่ายได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบข้อกฎหมายกับภาคธุรกิจเอกชนที่สนใจเป็นผู้จัดจำหน่าย