xs
xsm
sm
md
lg

ดึง 5 ราชภัฏ เป็นพี่เลี้ยงแนะแนวเขียนโครงการ ขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช.รุกเสริมศักยภาพ กรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. อบรมเครือข่ายภาคประชาชนที่เป็นกรรมการในสัดส่วน "หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่น" พร้อมดึง 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ร่วมเป็นพี่เลี้ยงสร้างเสริมสุขภาพ
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา สปสช. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร จัดการอบรมพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความรู้ให้กับแกนนำเครือข่ายประชาชน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ในการขับเคลื่อน “กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร” (กปท.กทม.) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน มีผู้เข้าร่วมอบรม 120 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) คณะกรรมการ กปท.กทม. และ เครือข่ายภาคประชาชน เป็นต้น
ทั้งนี้ กปท.กทม. ได้มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ตามมาตรา 47 ที่มีเป้าหมายสำคัญ คือการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยบริการสาธารณสุข และชุมชน เพื่อร่วมสร้างเสริมการจัดบริการสาธารณสุขที่จำเป็น เน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต การดูแลกลุ่มแม่และเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง รวมถึงการสนับสนุนการจัดทำกิจกรรมโดยประชาชนหรือองค์กรประชนที่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานครได้ร่วมสมทบงบประมาณ กปท.กทม. นี้


ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการเพื่อจัดบริการและกิจกรรมต่างๆ ด้านสุขภาพข้างต้นนี้ สามารถนำเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปท.กทม. ได้ โดยมีคณะกรรมการพิจารณา ดังนั้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน กปท.กทม. ที่นำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จึงได้นำมาสู่การจัดการอบรมพัฒนาศักยภาพฯ ในวันนี้ ให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์การดำเนินการกองทุนฯ การจัดบริการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ทำหน้าที่ของกรรมการได้ตามบทบาทอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพิจารณาโครงการ ในขณะเดียวกันยงให้คำแนะนำองค์กรชุมชนในพื้นที่ในการของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนฯ ได้ ตอบสนองต่อ่ปัญหาและเป็นประโยชน์ของชุมชน

“ในการอบรมครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายนอกจาก หน่วย 50(5) แล้วยังมีผู้แทนจากสำนักงานเขตซึ่งเป็นทีมเลขานุการกองทุนฯ และ ผู้แทนจากศูนย์บริการสาธารณสุขเข้าร่วมด้วย เพื่อสร้างความคุ้นเคยในการทำงานร่วมกัน และมีการจัดกิจกรรมเพื่อจำลองการวิเคราะห์ปัญหาชุมชน การเขียนโครงการของภาคประชาชนร่วมกัน ผลที่จะได้รับจากตัวโครงการจะนำส่งให้คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ระดับเขตพิจารณา โดยมีอาจารย์จาก 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ ได้แก่ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, มรภ.จันทรเกษม, มรภ.พระนคร, มรภ.ธนบุรี และ มรภ.สวนสุนันทา ผู้แทนกรุงเทพมหานคร สปสช. มาร่วมให้คำแนะนำ ขณะเดียวกันยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของโครงการที่นำเสนอที่ได้รับการอนุมัติ และโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณา เพื่อเป็นการเรียนรู้และสามารถนำเสนอได้อย่างถูกต้อง” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวต่อว่า สิ่งที่ได้จากการอบรมนี้ ยังเกิดการเชื่อมโยงของกลุ่มต่างๆ ชุมชน และเครือข่ายที่กระจายอยู่ตามเขตพื้นที่ใน กทม. นำไปสู่เกิดการรวมตัวจนเป็นพลังที่ขับเคลื่อน กปท.กทม. ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพให้กับชุมชนต่อไป โดยมีทีมพี่เลี้ยงในพื้นที่ทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฎ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับว่าเป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการนำพาสู่ชุมชนสุขภาวะดีต่อไป

นอกจากนี้ในเวทีอบรมได้มีการระดมความเห็นผู้เข้าร่วมอบรมฯ เพื่อพัฒนากองทุน มีข้อสรุป 4 ประเด็น ดังนี้ 1.ให้มีการสนับสนุนการทำงานของคณะอนุกรรมการกองทุนฯ โดยเฉพาะสัดส่วนภาคประชาชน 2. จัดให้มีกลไกพี่เลี้ยงในพื้นที่เพื่อสนับสนุนองค์กรภาคประชาชน 3.สร้างความเข้าใจต่อขั้นตอนการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ 4..มีกลไกการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานโครงการให้กับองค์กรภาคประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น