xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง "โรคเท้าปุก" เผย "ลูกคนแรก" มีความเสี่ยง แนะรีบรักษายิ่งได้ผลดี อาจใช้แค่ดัดเท้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์เตือน "โรคเท้าปุก" ส่งผลเท้างุ้ม บิดตะแคงและเขย่ง มี 3 ประเภท ทั้งแบบเทียมแต่แรกเกิด มักเกิดในลูกคนแรก แบบไม่ทราบสาเหตุ และเกิดร่วมกับโรคอื่น แนะรักษาเร็วทันทีแต่เด็กได้ผลดี ด้วยการดัดเท้า ใส่เฝือก หรือผ่าตัด


เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 3 มิ.ย. ของทุกปีเป็นวันเท้าปุกโลก ทั้งนี้ โรคเท้าปุก (clubfoot) เป็นโรคที่เท้ามีลักษณะงุ้มเข้า บิดตะแคง และเขย่ง เป็นความผิดปกติของเท้าที่พบได้บ่อยที่สุดชนิดหนึ่งในกลุ่มโรคที่เป็นแต่กำเนิด ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้ของโรคเท้าปุก แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ ได้แก่ กรรมพันธุ์ ลูกคนแรก พัฒนาการเท้าผิดปกติในครรภ์ และโรคบางอย่างที่ส่งผลต่อเจริญเติบโตของเท้า เป็นต้น ถ้ารักษาเร็วจะได้ผลดีโดยไม่ต้องผ่าตัด การรักษาทำได้โดยการดัดเท้าและใส่เฝือกต่อเนื่อง ใส่รองเท้าเฉพาะ จะทำให้รูปเท้าโตปกติ และการรักษาระยะต่อมาง่ายยิ่งขึ้น หากการใส่เฝือกไม่ได้ผล จึงพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด เมื่อรักษาหายเด็กจะวิ่งเล่นได้ดีสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

นพ.อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผอ.รพ.เลิดสิน กล่าวว่า บางรายสามารถตรวจพบได้จากการอัลตราซาวนด์ในช่วงที่มีการฝากครรภ์ ทำให้พ่อแม่ได้มีโอกาสเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับการรักษาเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว แต่โดยทั่วไปโรคนี้อาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกเด็ก ก็สามารถให้การวินิจฉัยจากการตรวจร่างกายเด็กหลังจากคลอดออกมาแล้วโดยไม่ได้ทำให้การรักษาช้าเกินไป ปกติจึงไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีของเท้าเพื่อยืนยันการเป็นโรคนี้ นอกจากการตรวจส่วนเท้าที่มีความผิดรูปแล้ว แพทย์จะตรวจร่างกายระบบอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุร่วมที่อาจทำให้การรักษาซับซ้อนมากขึ้น เช่น ระบบประสาทกล้ามเนื้อ เป็นต้น


นพ.ปริยุทธิ์ เจียรพัฒนาคม หัวหน้าหน่วยออร์โธปิดิกส์เด็ก สถาบันออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน กล่าวว่า เท้าปุกแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.เท้าปุกเทียมพบตั้งแต่แรกเกิด เท้าจะมีลักษณะผิดปกติดังกล่าวข้างต้นทุกประการ มักเกิดในลูกคนแรกที่มดลูกคุณแม่ยังมีความกระชับมาก แต่เมื่อจับดัดเท้าให้เข้ารูปเบาๆ เท้าก็จะมีลัษณะเป็นปกติ ดังนั้น แค่สังเกตอาการหรือการใส่เฝือกเพียงครั้งเดียวความผิดรูปก็จะดีขึ้นได้เอง 2.เท้าปุกที่ไม่ทราบสาเหตุ เท้าจะผิดรูปที่ไม่สามารถดัดให้ตรงได้จากการจับเพียงอย่างเดียว เกิดจากการเจริญผิดปกติของเท้าระหว่างอยู่ในครรภ์ รักษาโดยการดัดและใส่เฝือกเท้าต่อเนื่องหลายครั้ง หรืออาจต้องผ่าตัดจึงจะหาย

และ 3.เท้าปุกร่วมกับโรคอื่น เป็นเท้าผิดรูปที่เกิดร่วมกับโรคทางระบบประสาทกล้ามเนื้อ โรคข้อยึด หรือโรคอื่นๆ แม้ว่าจะรักษาได้โดยการดัดและใส่เฝือกต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่ต้องใส่เฝือกหลายครั้งกว่ามาก และมีโอกาสต้องรักษาโดยการผ่าตัดสูงกว่า อย่างไรก็ตาม เท้าปุกทุกประเภทควรมาพบแพทย์เร็วที่สุดตั้งแต่แรกเกิด และเริ่มรักษาโดยทันที เพราะจะทำให้การรักษาได้ผลดีมากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น