กรมควบคุมโรค เตือนปีนี้ครบรอบปีระบาด "ไข้เลือดออก" ผู้ป่วยพุ่งแล้ว 1.8 หมื่นคน พบป่วยสูงในเด็ก นร. อายุ 5-14 ปี อัตราป่วยสูงถึง 79 ตามด้วย 15-24 ปี ย้ำโรงเรียนเก็บขยะ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยึงลายทุกสัปดาห์ ช่วยลดแพร่ระบาด ย้ำอาการโรคให้รีบรักษา ล่าช้าทำเสียชีวิตได้
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมฯ คาดการณ์ว่าไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดอีกครั้งในปีนี้ตามวงรอบของปีที่จะระบาด ซึ่งขณะนี้ไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ เมื่อฝนตกจะทำให้น้ำขังในภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งวางไข่ของยุง สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 พ.ค. 2566 พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น โดยพบผู้ป่วย 18,173 ราย เสียชีวิต 15 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มอายุ 5-14 ปี 6,088 ราย อัตราป่วย 79 รองลงมา 15-24 ปี 4,247 ราย อัตราป่วย 49.53 ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดใน พ.ค. คือ ตราด น่าน จันทบุรี แม่ฮ่องสอน และระยอง
นพ.ธเรศ กล่าวว่า อาการของไข้เลือดออก คือ ไข้สูงเฉียบพลันและสูงลอย 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่อมาไข้จะลดลง ระยะนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ อาการบางอย่างคล้ายกับโควิด 19 ขอให้สังเกตอาการป่วยคนในครอบครัว หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน เช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไม่ลด ขอให้คิดว่าอาจป่วยไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยากินเองโดยเฉพาะยากลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด มีผลทำให้เลือดออกทางเดินอาหารได้ง่าย ยากต่อการรักษา เสี่ยงเสียชีวิต ให้รีบพาไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยประเมินอาการ ดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจเร็ว ทำให้วินิจฉัยผู้ป่วยไข้เลือดออกได้เร็วขึ้น
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนใหญ่คือเด็กมีภาวะอ้วน รองลงมาคือไปรักษาล่าช้า และได้รับยาในกลุ่มเอ็นเสด ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน ขอความร่วมมือสถานศึกษาทั่วประเทศ ช่วยกันทำความสะอาดโรงเรียน จัดการขยะ เก็บกวาดเศษใบไม้ สำรวจและกำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายในโรงเรียนทุกสัปดาห์ การป้องกันที่ได้ผลดีที่สุด คือ ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายรอบบ้าน ทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง หรือใช้ทรายกำจัดลูกน้ำบริเวณน้ำขัง และที่สำคัญต้องไม่สร้างแหล่งวางไข่ยุงลายเพิ่มขึ้น