xs
xsm
sm
md
lg

เรียนที่ TNI มีโอกาสในการแลกเปลี่ยน เรียนต่อ ฝึกงาน และทำงานในประเทศญี่ปุ่น อาเซียน และประเทศอื่นๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น หรือ TNI เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่พร้อมสนับสนุนให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรี ทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรเทียบโอน และระดับปริญญาโท ทั้ง 3 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งวิทยาลัยนานาชาติ มีโอกาสในการไปแลกเปลี่ยน เรียนต่อ ฝึกงาน และทำงานในประเทศญี่ปุ่น บางประเทศในอาเซียน และประเทศอื่นๆ กว่า 80 แห่ง ในรูปแบบการเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนระยะสั้นและระยะยาวกับมหาวิทยาลัยพันธมิตร (MOU) การเรียนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นระยะสั้นและระยะยาวที่ประเทศญี่ปุ่น การเรียนภาษาอังกฤษระยะสั้นในประเทศฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย การศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยที่มี MOU กับสถาบัน การไปทัศนศึกษา หรือดูงานต่างประเทศ การฝึกงานที่บริษัทในประเทศญี่ปุ่น เปิดโอกาสสู่การเข้าทำงานในบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทั้งในไทยและในญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศอื่นๆ หลังจบการศึกษาได้ทันที

ที่ผ่านมามีนักศึกษาของสถาบันไปโครงการแลกเปลี่ยนทั้งในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ กว่า 2,154 คน โดยมีทุนสนับสนุนให้กับนักศึกษา ในรูปแบบต่างๆ เช่น

- ทุนการศึกษา ยกเว้นค่าเล่าเรียน 100 % / 75% / 50%

- ทุนสนับสนุนค่าที่พัก หรือค่าที่พักฟรี ในโครงการแลกเปลี่ยน

- ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น เช่น Sakura Science Program, JASSO, Maple และ ทุน MEXT เป็นต้น

- ทุนเรียนต่อปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เช่น Kochi University of Technology, Muroran Institute of Technology, Tohoku University ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

- ทุนฝึกงาน ฝึกสหกิจ ในบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่น

และมีนักศึกษาต่างประเทศมาแลกเปลี่ยนกับสถาบันกว่า 1,721 คน


สำหรับมหาวิทยาลัยพันธมิตร (MOU) ของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงอันต้นๆ ที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน อาทิ Osaka University, Tohoku University, Kyushu University, Chiba University, Hiroshima University, Sophia University, Meiji University, Hosei University, Kindai University, Kansai University เป็นต้น

นายกันต์ปพนธ์ เหลืองอร่าม นักศึกษา TNI ชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมยานยนต์ (Automotive Engineering : AE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เล่าประสบการณ์การไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการ Junior Year Program in English (JYPE) พร้อมทุนสนับสนุน JASSO Scholarship เป็นระยะเวลา 1 เทอมการศึกษา ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 - 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า

“คอร์สหลักของโครงการ คือการไปทำโปรเจคงานวิจัยส่วนบุคคลในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย ผมเลือกทำโปรเจคเกี่ยวกับ Solid-state battery ซึ่งได้บูรณาการความรู้ในด้านวิศวกรรมศาสตร์มาใช้ในการทำการวิจัย ผมได้รับความรู้ความเข้าใจใหม่ในเกี่ยวกับหลักการทางกลศาสตร์ ไฟฟ้าเคมี และเทคโนโลยีสำหรับแบตเตอรี่ในอนาคต

นอกจากนี้การใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น ผมได้พัฒนาทักษะทางด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น รวมถึงภาษาจีน เพราะว่าต้องอาศัยอยู่ร่วมกับนักศึกษาที่มาจากหลากหลายประเทศ ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ผ่านทางเพื่อนๆ ที่รู้จักกัน

ในส่วนของชีวิตประจำวัน ผมค่อนข้างปรับตัวในหลายๆ ด้าน เนื่องจากช่วงเวลาที่ไปแลกเปลี่ยนเป็นฤดูหนาว ที่มีหิมะตก ทำให้ต้องฝึกใช้ชีวิตภายใต้ความกดดันทางสภาพอากาศแบบใหม่ แต่ก็ทำให้ได้ทำกิจกรรมแปลกใหม่ร่วมกับเพื่อนชาวต่างชาติ เช่น การปั้นตุ๊กตาหิมะ การเล่นสกี และการท่องเที่ยวตามเทศกาลฤดูหนาวในที่ต่างๆ ครับ”


นางสาวณัชชา หมั่นสุขแสง นักศึกษาทุน TNI World Class 100% สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business: IB) คณะบริหารธุรกิจ หนึ่งในนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการ IPLA EXCHANGE PROGRAM (entrance Oct 2022) เป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมทุนสนับสนุน JASSO Scholarship ได้เล่าประสบการณ์การไปแลกเปลี่ยนในขณะนี้ว่า

“โปรแกรมที่แยมมาแลกเปลี่ยนคือโปรแกรม IPLA (International Program in Liberal Arts) ที่ได้เจอเพื่อนๆ ชาวต่างชาติจากหลากหลายประเทศ มีฝรั่งเศส, อิตาลี, เยอรมัน, จีน, ฮ่องกง, อังกฤษ, อเมริกา, แคนาดา, ฯลฯ และเพื่อนชาวญี่ปุ่นจากเซอร์เคิล IPLAnet (คล้ายชมรมของไทย) ที่จะเป็นหัวหน้าในการจัดกิจกรรมเพื่อกระชับมิตรคนในโปรแกรมด้วยกันเองโดยเฉพาะ ทำให้เราเริ่มหาเพื่อนจากที่นี่ได้ตั้งแต่มาถึง ในโปรแกรมจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเป็นหลัก แต่สามารถฝึกคุยกับเพื่อนญี่ปุ่นในโปรแกรมเป็นภาษาญี่ปุ่นได้เหมือนกัน เพราะเขาจะมีบัดดี้ประจำตัวให้นักเรียน IPLA ทุกคน เพื่อช่วยซัพพอร์ตเรื่องการใช้ชีวิตในเซนไดหรือไปแฮงค์เอ้าท์ด้วยกันหลังเลิกเรียน การมีบัดดี้มันทำให้คนในโปรแกรม IPLA ค่อนข้างสนิทสนมกันง่าย เทียบกับโปรแกรมแลกเปลี่ยนอื่นอย่าง DEEP หรือ JYPE ที่ไม่มีระบบบัดดี้ส่วนตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีเพื่อนข้ามโปรแกรมไม่ได้ เพราะยังมีกิจกรรมของทางหอพักและมหาวิทยาลัยจัดขึ้นเรื่อยๆ อยู่ทุกเดือนค่ะ


การมาแลกเปลี่ยนที่โทโฮคุไม่ได้มีแค่ความรู้อย่างเดียวที่เราต้องโฟกัส แต่ซอฟต์สกิลอื่นๆ ก็จำเป็นเหมือนกันในการมาใช้ชีวิตเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนค่ะ อย่างการปรับตัว เพราะโปรแกรม IPLA เป็นโปรแกรมที่เน้นนักเรียนเหมือนเด็กในมหาวิทยาลัย ไม่มีการทำแลปส่วนตัวเพื่อส่งจบ และสามารถเลือกคลาสที่มีการสอนได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ทำให้เราได้เจอเพื่อนต่างชาติ, ต่างอายุ, ต่างสาขาค่อนข้างเยอะ การทำงานกลุ่มจากคนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภาษา เป็นอะไรที่ใหม่มาก และต้องปรับตัวสูง เราจะค่อยๆ ชินกับสำเนียงภาษาและเข้าใจวิธีการคิดของคนแต่ละชาติ หรือแม้แต่การเมคเฟรน (make friend) ก็ต้องปรับตัว เพราะความชอบและงานอดิเรกที่ไม่เหมือนกันจากสังคมและภูมิประเทศ ทำให้ใช้เวลาสักพักกว่าที่เรากับเพื่อนจะจูนกันติด แต่สุดท้ายก็จะเจอคนที่เคมีตรงกัน หลังจากเจอกันบ่อยๆ ค่ะ การออกไปเจอผู้คนเยอะๆ ก็สำคัญมากไม่แพ้เรื่องเรียนเลย”

นอกเหนือจากนักศึกษาที่ไปแลกเปลี่ยนสามารถเลือกเรียนในวิชาที่ตนมีความสนใจแล้ว ยังได้ฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น


นายนัทธวัฒน์ สิมสวัสดิ์ และ นางสาวกรปภา กรรณติมากร นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ (TNIC) สาขา Digital Engineering : DGE ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไปแลกเปลี่ยนในโครงการ Summer training program 2023 ที่ National Institute of Technology (KOSEN), Kushiro College, Hokkaido โดยได้รับทุน JASSO ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และจะจบโครงการในวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ได้เล่าถึงกิจกรรมที่ได้ทำในระหว่างโครงการว่า

“ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทนโดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ ของญี่ปุ่น เช่น การชงชา และการจัดดอกไม้ครับ” นายนัทธวัฒน์กล่าว

ส่วนนางสาวกรปภา กล่าวว่า “ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ self-healing ของ SiC เรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ได้ฝึกทักษะภาษาญี่ปุ่นให้ดีขึ้นโดยการคุยกับเพื่อนและคนท้องถิ่น ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างๆของคนญี่ปุ่นด้วย ได้เห็นเมืองและการใช้ชีวิตของผู้คนที่นี่ว่าเหมือนหรือแตกต่างจากประเทศไทยอย่างไร และได้ทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ๆ ที่มาจากต่างที่มากมายเลยค่ะ”


หลังผ่านช่วงโควิด TNI ยังคงส่งเสริมและมอบโอกาสให้นักศึกษาของสถาบันสามารถไปญี่ปุ่นได้จริง (Go Japan) โดยผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น ไปฝึกงาน และ Internship ในญี่ปุ่น การไปศึกษาต่อในญี่ปุ่น หรือไปทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นทั้งในไทยและญี่ปุ่นด้วย เพราะ “TNI คือตัวจริงเรื่องญี่ปุ่น” พร้อมขยายฐานความร่วมมือไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในอาเซียน อินเดีย บังคลาเทศ และสหรัฐอเมริกาด้วย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “แตกต่างด้วยภาษา ก้าวหน้าด้วยนวัตกรรม วัฒนธรรมที่หลากหลาย”

สอบถามข้อมูลทุนและโครงการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.tni.ac.th/home/exchange_programs
กำลังโหลดความคิดเห็น