xs
xsm
sm
md
lg

สสส.-สสย. ร่วมกับ ภาคี จ.น่าน มุ่งพัฒนาสามเณรรู้เท่าทันสื่อ นำร่อง 3 โรงเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพราะทุกคนสามารถร่วมออกแบบเมืองให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีความสุข และปลอดภัยได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชนก็ถือได้ว่าเป็นพลเมืองที่มีบทบาทและความสำคัญในการร่วมออกแบบเมืองให้น่าอยู่และดีขึ้นได้

ด้วยเหตุนี้เองจึงนำไปสู่โครงการสามเณรน่านร่วมออกแบบเมืองสำหรับทุกคน ซึ่งเกิดจากการนำแนวคิดเรื่องเมืองสำหรับทุกคนมาปรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเมือง พัฒนาชุมชน สำหรับทุกคนตามสถานการณ์และบริบทของพื้นที่ อีกทั้งยังทำให้สามเณรได้มีโอกาสพัฒนาตนเองในด้านการรู้เท่าทันสื่อฯ และใช้สื่อเพื่อสร้างสรรค์สังคม นำไปสู่การเห็นคุณค่าของตัวเองและคนในสังคมยอมรับบทบาทของสามเณรในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนสังคมมากขึ้น

โดยโครงการสามเณรน่านร่วมออกแบบเมืองสำหรับทุกคน จ.น่าน ได้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2565 ภายใต้โครงการเยาวชนพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองสำหรับทุกคน (MIDL for Inclusive Cities) ของมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทั้งนี้โครงการสามเณรน่านร่วมออกแบบเมืองสำหรับทุกคน ดำเนินงานโดยโรงเรียนปริยัติธรรมในจังหวัดน่าน จำนวน 3 แห่ง

น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า โครงการนำแนวคิดเรื่องเมืองสำหรับทุกคน (Inclusive City) มาปรับใช้ในการดำเนินโครงการ โดยมีการดำเนินงานในโรงเรียนปริยัติธรรม 3 แห่งใน จ.น่าน ได้แก่

1.โรงเรียนเชียงกลางปริยัติศึกษา อ.เชียงกลาง โดยร่วมกับ โรงพยาบาลสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน และจิตอาสา พัฒนากิจกรรม “สามเณร Care Giver ผู้ดูแลสุขภาพชุมชน” ดูแลผู้ป่วยติดเตียง สร้างสรรค์สื่อศิลปะ จัดทำการ์ด และตระกร้าเยี่ยมผู้ป่วย เกิดกองทุนผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน และผู้สูงอายุในชุมชน สนับสนุนให้นักเรียนสามเณรได้มีโอกาสไปเยี่ยมผู้ป่วย ได้ไปพูดคุยถามไถ่ ซึ่งช่วยเยียวยาจิตใจ ให้กำลังใจ ทำให้ผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยมีกำลังใจดีขึ้น และรู้สึกดีที่เหมือนมีลูกหลานมาเยี่ยมเยียน และมองเห็นบทบาทของสามเณรที่มีต่อชุมชน กระบวนการอบรมเสริมแนวคิดเรื่องเมืองสำหรับทุกคน ( Inclusive City) ทำให้สามเณรมองเห็นสถานการณ์ปัญหาของชุมชนว่าผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ชนชั้น สถานะ ชาติพันธุ์ใดก็ตาม ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน

2.โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดนิโครธาราม อ.ท่าวังผา ได้ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนากิจกรรม “หนองบัว-เมืองล้า แบรนด์ by สามเณร” ออกแบบตราสัญลักษณ์บนผลิตภัณฑ์ที่เคารพความหลากหลายของอัตลักษณ์ที่สืบสานมาจากไทลื้อเมืองล้า อาทิ คราฟโซดา (ลื้อซ่า) การทอผ้า เรือนไทลื้อ สร้างเศรษฐกิจบนฐานของชุมชน ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมา กระตุ้นให้เกิดความตระหนักว่าเมืองเป็นของทุกคน ทำให้เกิดการสานพลังระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน ให้เป็นเมืองสุขภาวะสำหรับทุกคน

3.โรงเรียนวัดดอนมงคลสันติสุขวิทยา อ.สันติสุข ร่วมกับภาคีฮักเมืองน่าน พัฒนากิจกรรม “ธรรมยาตรา ปลูกศรัทธาและรักษาสิ่งแวดล้อม” จัดพิธีบวชป่าร่วมกับชุมชน มีการสื่อสารผ่านข้อความบนผ้าบวชป่าที่ใช้สีผ้ามัดย้อมธรรมชาติ พิธีสืบชะตาแม่น้ำ การมัดไม้ไผ่เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อให้คนในชุมชนเกิดความตระหนัก เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของสามเณรในการร่วมสร้างสรรค์ชุมชน


“แนวคิดเรื่องเมืองสำหรับทุกคนมีรากฐานมาจากแนวคิดเรื่องสิทธิ ที่ทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในเมืองที่มีผู้คนหลากหลายและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เป็นเมืองที่ปลอดภัย เป็นเมืองที่เคารพศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ รวมถึงเด็กและเยาวชนก็เป็นผู้มีบทบาทมีสิทธิมีส่วนร่วมที่จะออกแบบเช่นกัน”

“จากแนวคิดดังกล่าวจึงนำไปสู่ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพลังพลเมืองเด็ก เยาวชนเท่าทันสื่อและร่วมออกแบบเมืองสำหรับทุกคน ซึ่งมีการขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่ายในหลายภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เด็กมีความสามารถลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาของชุมชนด้วยกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ง่าย ๆ และการสื่อสารของเด็กซึ่งอาจจะใช้สื่อวัฒนธรรม วิถีชีวิต ตำนานท้องถิ่น เรื่องเล่าต่าง ๆ การแต่งกาย อาหาร สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เป็นสื่อที่นำมาสู่การออกแบบเพื่อการสื่อสารสร้างการเปลี่ยนแปลง”

น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)
“การที่สามเณรมีบทบาทเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบและมีความกระตือรือร้น นอกจากมีทักษะรู้เท่าทันสื่อแล้ว ต้องเห็นคุณค่าในตนเอง เข้าใจและเท่าทันสถานการณ์ทางสังคม สามารถเชื่อมโยงตนเองกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวและชุมชน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ของเมือง ของสังคม ของโลก และเห็นพลังของตนเองที่จะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนให้เมืองเป็นเมืองสำหรับทุกคน เมืองที่ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เคารพความแตกต่างหลากหลาย เชื่อในเรื่องการพัฒนาบนฐานความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นแนวทางการเติบโตของสังคมอย่างมีส่วนร่วม และช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อนิเวศสื่อสุขภาวะ อันจะนำไปสู่การมีวิถีสุขภาวะแบบองค์รวมของสังคม”

“โครงการสามเณรน่านร่วมออกแบบเมืองสำหรับทุกคน ปัจจุบันเรานำร่องในโรงเรียนปริยัติธรรม 3 โรงเรียนในจังหวัดน่าน ซึ่งตอนนี้ก็ได้มีแกนนำสามเณร 30 รูปต่อ 1 โรงเรียน เป็นเสมือนพี่เลี้ยงเป็นผู้ไปดำเนินกิจกรรม มีบทบาทไปขยายสู่เณรรุ่นน้อง ซึ่งมีเณรบางส่วนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไปแล้วก็ได้กลับมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในโรงเรียนต่าง ๆ ด้วย”

“สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) จะถอดบทเรียนเป็นองค์ความรู้และจะนำไปขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ จังหวัดอื่น ๆ ทำให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายต่อไป ซึ่งอนาคตเรามีเป้าหมายว่าอยากจะขยายไปให้ครบทั้ง 16 โรงเรียนปริยัติธรรมในจังหวัดน่าน” น.ส.เข็มพร กล่าว

ด้านพระครูอนุกูลนันทกิจ (พระอาจารย์คงศิลป์ เขื่อนอ้น) ผู้อำนวยการโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดนิโครธาราม ได้กล่าวว่า ตนนั้นเคยเป็นสามเณรมาก่อน เมื่อก่อนการบวชเณรจะต้องทำตนให้สงบเท่านั้น ทำให้สามเณรบางรูปอยู่ได้ไม่นาน แต่ปัจจุบันสามเณรสามารถบวชได้นานขึ้นเพราะมีกิจกรรมให้ได้ทำ ซึ่งมองว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก ๆ สามเณรที่ได้ร่วมกิจกรรมสามารถสร้างคุณค่าให้กับตนเองได้ สามเณรจะได้แสดงความสามารถให้คนอื่นเห็น ทำให้สามเณรมองเห็นคุณค่าของตนเอง มีพลังในการทำความดี ถึงแม้วันหนึ่งต้องลาสิกขาออกไปก็สามารถเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ของประเทศชาติต่อไปได้”

พระครูอนุกูลนันทกิจ (พระอาจารย์คงศิลป์ เขื่อนอ้น) ผู้อำนวยการโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดนิโครธาราม
ด้านตัวแทนสามเณรโรงเรียนเชียงกลางปริยัติศึกษา อ.เชียงกลาง จ.น่าน ได้เล่าถึงการทำกิจกรรมลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยว่า ได้ไปพูดคุยกับผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย ได้ถามปัญหาทุกข์ ปัญหาชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของผู้ป่วย ได้ให้กำลังใจ บรรยายธรรม นำผู้ป่วยภาวนา อโหสิกรรม แผ่เมตตา มีการทำการ์ดกระเช้าผลไม้ ช่อดอกไม้ และรูปภาพต่าง ๆ ไปให้กำลังใจผู้ป่วยด้วย ซึ่งสามเณรมองว่าเป็นการดีที่ได้ไปเผยแพร่พระธรรมคำสอนและบำบัดความทุกข์ให้กับญาติโยมได้

ตัวแทนสามเณรโรงเรียนวัดดอนมงคลสันติสุขวิทยา อ.สันติสุข จ.น่าน ได้กล่าวถึงการทำกิจกรรมธรรมยาตรา ปลูกศรัทธาและรักษาสิ่งแวดล้อม ว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นการช่วยเหลือชุมชนและอีกทั้งยังเป็นการตอบแทนบุญคุณที่คนในชุมชนมีต่อพระและสามเณร ถ้าไม่มีคนในชุมชนก็ไม่มีพระภิกษุ สามเณรในทุกวันนี้

อีกหนึ่งตัวแทนสามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดนิโครธาราม อ.ท่าวังผา จ.น่าน ได้กล่าวถึงการได้เข้าร่วมโครงการนี้ว่า หลังจากได้เข้าร่วมโครงการนี้รู้สึกได้พัฒนาตนเอง ได้มีการขัดเกลาทักษะต่าง ๆ เช่น การพูด การวาดรูป เป็นต้น ซึ่งสามเณรหลาย ๆ รูป ที่มีความสามารถในแต่ละด้านที่แตกต่างกันออกไปก็ได้ใช้ความสามารถของตนเองทำเพื่อชุมชน ทำเพื่อคนอื่นให้เกิดประโยชน์ตามมา

ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. กล่าวถึงโครงการสามเณรน่านร่วมออกแบบเมืองสำหรับทุกคนว่า เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยกลุ่มสามเณร จำนวน 180 รูป ร่วมกันใช้ทักษะเท่าทันสื่อ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ ผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะความสามารถในการเข้าถึง เข้าใจและคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันตนเอง เท่าทันสังคม และเท่าทันสื่อ กระบวนการเริ่มจากการสำรวจชุมชน เพื่อให้เข้าใจปัญหาและต้นทุน หาแนวทางแก้ปัญหา และออกแบบกิจกรรมและการสื่อสารโดยใช้สื่อวิถีวัฒนธรรมของชุมชนมาสื่อสาร นำไปสู่บทบาทของการเป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่เท่าทันสื่อ ที่มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของอัตลักษณ์ที่หลากหลายในชุมชน

ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส.
ทั้งนี้ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่  8 สสส. ยังได้กล่าวชื่นชมจังหวัดน่านว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงมาก
แม้จะเป็นเมืองขนาดเล็ก แต่มีฐานวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง มีฐานชุมชนที่เข้มแข็งที่ผ่านมาจึงได้เกิดรูปธรรมต้นแบบจำนวนมาก และในอนาคตน่าจะมีโอกาสได้เห็นน่านเป็นต้นแบบเมืองสุขภาวะของสังคมไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น