มศว ประกาศพร้อมเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้เพื่อสังคม” หลังประสบความสำเร็จ U2T for BCG ในพื้นที่ 107 ตำบล ครอบคลุม 30 อำเภอ 10 จังหวัด
เมื่อวันที่ 30 พ.ค.นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เป็นประธานเปิด “โครงการสัมมนาสรุปผลการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (SWU-U2T for BCG FAIR 2023)” โดยมี รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เป็นผู้ดำเนินการจัดงาน ที่อาคารนวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มศว ประสานมิตร กรุงเทพฯ
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากวิกฤติโควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ทำให้ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องมีแผนการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้กลับมาเป็นปกติอย่างเร่งด่วน กระทรวง อว. จึงได้ดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดการดำเนินการจาก “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” หรือ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) ในการใช้ข้อมูล Thailand Community Big Data (TCD) ที่บ่งบอกถึงศักยภาพและความพร้อมของทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพื้นที่ มาใช้ในการพัฒนารายพื้นที่ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเพิ่มและรักษาระดับการจ้างงานบัณฑิตและประชาชนในพื้นที่ให้ไปทำงานกับชาวบ้านและชุมชนครอบคลุม 7,435 ตำบลทั่วประเทศ โดยผลการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T for BCG” สามารถกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG จำนวนกว่า 15,042 กิจกรรม เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไปและบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 64,152 คน ซึ่งได้รับการฝึกอบรม (Upskill/Reskill) พัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG และสามารถกระตุ้นและก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระหว่างการดำเนินโครงการ ประมาณ 1,236 ล้านบาท/เดือน
ด้าน รศ.ดร.ชลวิทย์ กล่าวว่า มศว ได้รับการจัดสรรพื้นที่เข้าไปขับเคลื่อนดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T for BCG” ตามแนวทางนโยบายของรัฐบาลและกระทรวง อว. จำนวน 107 ตำบล ครอบคลุม 30 อำเภอ 10 จังหวัด มีการจ้างงานจำนวน 994 อัตรา แบ่งเป็น บัณฑิต 497 อัตรา และประชาชน 497 อัตรา โดยโครงการฯ ดังกล่าวสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยที่ประกาศเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้เพื่อสังคม” และมีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (2565-2580) เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการบริการวิชาการเพื่อสังคมและตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ประกาศจุดยืน ในวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ว่า มหาวิทยาลัยได้กำหนดเป้าหมายการบริการวิชาการเพื่อสังคม โดยเน้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวทางให้หน่วยงานต่างๆ ภายใน มศว ดำเนินกิจกรรมและบริการวิชาการต่างๆ เช่น โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T for BCG” ที่ได้บูรณาการกับหน่วยงานภายในจำนวน 14 หน่วยงานรวมถึงหน่วยงานภายนอกเพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนาในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย และพัฒนาแนวทางในการดำเนินงานโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายของมหาวิทยาลัย
“การจัดโครงการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสรุปผลการดำเนินงานและยังเป็นการถอดบทเรียนเพื่อนำไปพัฒนาการทำงานเพื่อสังคม นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ของโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T for BCG” เพื่อส่งเสริม ผลักดัน ต่อยอดให้ชุมชนในพื้นที่ของโครงการฯ มีช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้าและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับประชาคม มศว และประชาชนทั่วไปอีกด้วย” รศ.ดร.ชลวิทย์ กล่าว